คล้า (Calathea) เป็นไม้ประดับมงคล ตามความเชื่อของคนไทย “คล้า” มาจากคำว่า คล้าคลาดหรือแคล้วคลาด จากศัตรูทั้งปวง การปลูกคล้าไว้คู่บ้านจะช่วยคุ้มครองปกปักรักษาให้ผู้ที่อยู่อาศัยมีความสุข คนไทยโบราณเรียกคล้าว่า พุทธรักษาน้ำ ซึ่งหมายถึง มีพระพุทธเจ้าคอยรักษา
ทำความรู้จักกับ คล้า (Calathea)
คล้า เป็นพืชในวงศ์ Marantaceae ซึ่งมีพืชอยู่ในวงศ์ประมาณ 31 สกุล 550 ชนิด สกุลที่นิยมปลูก ได้แก่
- Catathea
- Ctenenthe (สาคูทอง)
- Donax (คลุ้ม)
- Maranta (สาคู)
- Phrynium (สาดแดงและสาดขาว)
- Thalia (พุทธรักษาน้ำ)
แต่ละสกุลจะมีลักษณะของใบ ดอก และผลแตกต่างกัน
คล้าเติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศเย็น
พืชวงศ์คล้า จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น อุณหภูมิ 18-30 องศาเซลเซียส มีแสงแดดรำไร และมีความชื้นสูง ในบางประเทศคล้าบางสกุลอยู่ได้แม้ในพื้นที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ในฤดูฝนใบคล้าจะมีลักษณะเป็นมัน มีลายสวยงาม แต่ถ้าถูกแสงแดดจัด หรือ มีความชื้นในอากาศน้อย ใบจะห่อและมีรอยไหม้
ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต คล้าจะไวต่อสภาพแวดล้อมมาก โดยเฉพาะความชื้น จึงควรรดน้ำให้ชุ่มทุกเช้าและดูแลดินและอากาศให้ชื้นอยู่เสมอ ช่วงที่นำมาปลูกใหม่ๆ ใบคล้าอาจเหี่ยวลงบ้าง ให้ใช้สเปรย์ฉีดพ่นน้ำสม่ำเสมอจนกว่าใบจะกางออกและเริ่มผลใบใหม่ ซึ่งแสดงว่า ต้นเริ่มตั้งตัวได้แล้ว
จุดเด่นของพืชวงศ์คล้า
จุดเด่นของพืชวงศ์คล้า คือ มีใบและดอกที่สวยงามแปลกตา โดยเฉพาะคล้าสกุล Calathea เช่น คล้าเสือโคร่ง คล้าไมราบิลิส และเสน่ห์ขุนแผน ที่ใบมีรูปทรงและลวดลายแปลกตา หรือ Ice Blue Calathea ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบลาซิล แต่เติบโตได้ดีในเมืองไทย จะมีช่อดอกสีฟ้าอ่อน ปลายกลีบสีม่วงอ่อนสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับและไม้ตัดดอก
คล้าเป็นไม้ประดับทั้งภายในและภายนอกอาคารโดยใช้กระถางทรงสูง คล้าชอบปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับแกลบผุ และดินร่วนผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปีต่อครั้ง เพราะรากและกออาจจะขยายแน่น และเพื่อเปลี่ยนดินเก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว แม้ว่าคล้าจะเป็นไม้ประดับที่อยู่ภายในอาคารได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าควรให้ได้รับแสงแดดบ้างอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์
คล้าบางชนิดใช้ประกอบอาหารได้เป็นยาสมุนไพรก็ได้
คล้าบางสกุลมีหัวและรากที่สามารถนำมากินเป็นอาหารได้ เช่น Calathea allouia ซึ่งเป็นคล้าที่ชาวอเมริกากลางนิยมกินแทนหัวมันฝรั่ง และสาคูด่างในสกุล Maranta ก็สามารถนำเหง้ามากินได้ หรือ นำมาทำเป็นแป้งได้
Donax ซึ่งเป็นคล้าพื้นเมืองของไทย แม้ว่าใบจะไม่มีลวดลายแปลกตา และมีกอพุ่มคล้ายกับกอหญ้า แต่สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น เหง้าแห้ง ใช้รักษาอาการร้อนใน กระหายน้ำ แก้หัด หรือ อีสุกอีใส ชาวอินโดนีเซียใช้ใบอ่อนที่ยังม้วนงออยู่มาคั้นเอาน้ำรักษาโรคตา ส่วนชาวฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มต้มจากรากบรรเทาพิษงูกัดได้
และคล้าบางชนิดนำมาทำงานจักสาน
คล้าสกุล Schumannianthus ซึ่งพบอยู่ในหลายพื้นที่ในประเทศไทยนั้น มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ในภาคกลางจะเรียกกันว่า คล้า ในภาคเหนือเรียกกันว่า “แหย่ง” และในจังหวัดนราธิวาสเรียกกันว่า “เบอร์แม” แม้ลำต้นจะมีทรงพุ่มไม่ได้สวยงาม และไม่ค่อยมีใครนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แต่มันสามารถนำใบและลำต้นมาสานเป็นวัตถุดิบในการจักสานได้ เช่น การถักกระเป๋า ตะกร้า และเสื่อ
อ้างอิง : thestandard