ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่อวัยวะหรือบางส่วนของอวัยวะภายในช่องท้อง เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิม ผ่านรู หรือดันตัวผ่านบริเวณกล้ามเนื้อ หรือพังผืดที่เกิดความหย่อนยานสูญเสียความแข็งแรง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นตำแหน่งใดก็ได้ในส่วนท้องตั้งแต่เหนือสะดือลงมาจนถึงใต้ขาหนีบ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีก้อนนูนออกมาสามารถคลำพบได้โดยง่าย
ไส้เลื่อนคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร ?
ไส้เลื่อน (Hernia) เกิดจากการที่ลำไส้เคลื่อนตัวเข้าไปในบริเวณผนังช่องทางบางจุด ซึ่งอ่อนแอหรืออาจหย่อนยาน ทำให้เห็นเป็นก้อนตุง โดยเฉพาะตรงบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง มักจะเกิดขึ้นเวลาที่มีแรงดันในช่องท้องสูง เช่น เวลาไอ จาม เบ่ง หรือ ยกของหนักๆ แต่มักจะไม่มีอาการรุนแรงใดๆ นอกจากจะสร้างความรำคาญให้เท่านั้น
จุดอ่อนที่ผนังช่องท้องนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การผ่าตัดช่องท้อง การตั้งครรภ์บ่อยๆหรืออาจจะเป็นมาแต่กำเนิด ไส้เลื่อนมีหลายชนิดตามแต่ตำแหน่งที่เป็น ซึ่งจะมีอาการและการรักษาแตกต่างกันไป
ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร?
- โรคอ้วน หรือ คนที่มีน้ำหนักเกิน
- คนที่กำลังตั้งครรภ์
- คนที่เป็นต่อมลูกหมากโต
- การยกของหนักเป็นประจำ
- คนที่ชอบเบ่งอุจจาระบ่อยๆ หรือ คนที่ท้องผูกบ่อยๆ
- ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่มีของเหลวในช่องท้อง เช่น โรคตับ
ไส้เลื่อนมีอาการอย่างไร?
- ปวดหน่วงๆ เหมือนมีอะไรไหลออกมา หรือรู้สึกเจ็บท้อง เรามักจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณช่องท้องเมื่อก้มตัว จาม ไอ หรือยกของหนัก
- มีก้อนนูน สามารถผลุบเข้าออกได้บริเวณผนังหน้าท้อง หรือบริเวณขาหนีบ หรืออาจจะจับแล้วไม่ขยับเลยก็ได้ จับแล้วอาจรู้สึกเจ็บ
- ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ไส้เลื่อนมีกี่ชนิด?
ไส้เลื่อนที่สะดือ (umbilical hernia) :
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตั้งแต่เกิด เวลาเด็กร้องไห้จะเห็นสะดือโป่งออกมา แต่มักไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ ถ้าก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าฟันรอบเอวเพื่อกดสะดือไว้ ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา ไส้เลื่อนชนิดนี้มักหายไปเอง ก่อนที่เด็กจะอายุครบ 2 ขวบ แต่ถ้าไม่หายควรเข้ารับการผ่าตัดเมื่ออายุครบ 3-5 ขวบ
ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (inguinal hernia) :
คือ การเกิดก้อนตุงบริเวณขาหนีบหรือลูกอัณฑะ สังเกตเห็นได้เวลายกของหนัก ไอ จาม หรือ เบ่ง ก้อนที่เห็นจะมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ และจะเล็กลงหรือหายไปเวลานอนหงาย โดยที่ไม่มี อาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
ไส้เลื่อนชนิดนี้พบบ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า และแม้ว่าบริเวณผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบจะอ่อนแอตั้งแต่กำเนิด แต่อาการไส้เลื่อนมักปรากฎเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน
ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ลำไส้อาจค้างอยู่ที่ขาหนีบหรืออัณฑะโดยไม่เคลื่อนตัวกลับช่องท้อง เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดตกค้าง (obstructed hernia) ทำให้มีอาการของลำไส้ตีบตัน คือ ปวดท้องและอาเจียนรุนแรง ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ อาจทำให้ลำไส้ส่วนที่ค้างอยู่นั้นถูกบีบรัดและขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้เน่าได้ เรียกว่า ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด (strangulated hernia) ผู้ป่วยจะปวดท้องอย่างรุนแรง และถ้าลำไส้เกิดทะลุ ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ไส้เลื่อนที่เกิดหลังการผ่าตัด :
ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ซึ่งแม้ว่าแผลผ่าตัดจะหายดีแล้ว ผนังหน้าท้องอาจเกิดการหย่อนคล้อยผิดปกติทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวไปอยู่ที่บริเวณนั้น ไส้เลื่อนแบบนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ
ข้อแนะนำ :
ในระยะที่เป็นน้อยๆ ให้พยายามใส่กางเกงชั้นในที่ค่อนข้างรัด เพื่อไม่ให้ลำไส้เคลื่อนลงมาได้ ระวังอย่าให้ท้องผูก และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก อาจไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดปิดจุดอ่อนของผนังหน้าท้อง และถ้ามีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรือ อาเจียนรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที.
การรักษาโรคไส้เลื่อนทำได้อย่างไร?
- วิธีหลักในการรักษาโรคไส้เลื่อนคือ การผ่าตัด เพื่อนำลำไส้หรืออวัยวะอื่นให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม สำหรับผู้ป่วยที่มีไส้เลื่อนติดค้าง หมอจะต้องดันไส้เลื่อนกลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนแล้วผ่าตัด
- การผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้เทคนิกการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง โดยการเจาะรูขนาดเล็กๆบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อเข้าไปซ่อมไส้เลื่อนจากด้านใน ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
อ้างอิง : bangkokhatyai , paolohospital , bumrungrad