Friday, 11 October 2024

ไฮเดรนเยีย (hydrangea) ไม้ดอกสวยหลากสีประดับบ้าน

คำว่า ไฮเดรนเยีย (hydrangea) มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Hydor ซึ่งแปลความหมายว่า น้ำ และ angeion หมายถึง เรือที่บรรทุกของเหลว เช่น พวกเรือบรรทุกน้ำมัน ซึ่งมีที่มาจากลักษณะเมล็ดของมัน

ไฮเดรนเยีย มีอยู่ 23 สายพันธุ์ที่พวกเรารู้จักกันดี อย่างพันธุ์หัวแบน ซึ่งมีความสูงประมาณ 2-3 เมตร และ พวกพันธุ์ใบโอ๊ค ซึ่งใบจะกลายเป็นสีแดงก่ำเหมือนสีไวท์ในฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากไฮเดรนเยียมีรูปดอกสวยงามแต่ไร้กลิ่นจึงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ความเย็นชา กระนั้น ความที่ดอกสามารถอยู่ได้ทนจึงมักเป็นที่ต้องการอย่างมากในงานดอกไม้ประดับทั้งหลาย

รู้จักกับ ไฮเดรนเยีย (hydrangea)

ไฮเดรนเยีย (hydrangea)
ภาพโดย Helga Kattinger จาก Pixabay

ไฮเดรนเยีย (hydrangea) เป็นไม้พุ่มในเขตอบอุ่น มีลำต้นสูงประมาณ 60-90 เซนติเมตร ใบเขียวเกลี้ยง ขอบใบจัก ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง รูปทรงของดอกไฮเดรนเยียมีหลายแบบ เช่น เป็นช่อกลม (Mophead) และแบบแผ่แบน (Lacecap) ที่เราเห็นเหมือนกลีบดอกนั้นส่วนใหญ่เป็นกลีบดอกรอง ไม่ใช่กลีบดอกแท้ และเป็นดอกเกสรตัวผู้ ดอกที่เป็นเกสรตัวเมียจะอยู่ตรงกลาง มีขนาดเล็ก มองเห็นได้ยาก

ไฮเดรนเยียมีสายพันธ์หลากหลายมากมาย ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ต่างๆเข้าด้วยกัน แต่ละสายพันธุ์อาจจะมีช่วงเวลาในการออกดอกไม่ตรงเวลา เหลื่อมล้ำกันไปเล็กน้อย โดยปกติไฮเดรนเยียในเขตอบอุ่น จัดว่าเป็นไม้หน้าร้อนเพราะดอกจะบานสะพรั่งในหน้านี้ คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงประมาณเดือนตุลาคม แต่ในบ้านเราต้องเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ไฮเดรนจะชอบอยู่ในที่ร่มและไม่ชอบสถานที่ที่มีลมแรง

เราสามารถพัฒนาสีดอกของไฮเดรนเยียได้

พัฒนาสีดอกของไฮเดรนเยีย
ภาพโดย pasja1000 จาก Pixabay

ดอกไฮเดรนเยียมีหลายสี เช่น ชมพู ฟ้า ม่วง ขาว และเราสามารถกำหนดสีได้เอง ชาวสวนรุ่นเก่าๆจะชอบใช้วิธีฝังตะปูขึ้นสนิมประมาณ 2-3 ตัว หรือ ลวดทองแดงสักเส้นไว้ใกล้ๆราก เพื่อให้ไฮเดรนเยียสีชมพูกลายเป็นสีฟ้า

แต่จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สีของดอกไฮเดรนเยียขึ้นอยู่กับปริมาณอลูมิเนียมและค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ถ้าดินเปรี้ยว (เป็นกรด) ดอกจะสีฟ้า ยิ่งดินเปรี้ยวสีดอกจะยิ่งเข้มขึ้น เราจึงใช้ผงอลูมิเนียมซัลเฟตบริเวณรากต้น แต่อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้รากเน่าได้ หรือ ซื้อสารให้สีฟ้าตามร้านต้นไม้มารดก็ได้

แต่ถ้าดินเป็นด่าง (ให้โรยด้วยโดโลไมต์หรือรดด้วยน้ำมะนาว) ดอกจะเป็นสีชมพู ส่วนดอกสีขาวจะเปลี่ยนเฉพาะสีตาของดอกเกสรตัวผู้เท่านั้น

ต้องระวังเรื่องการเติมกรด-ด่างด้วย เพราะถ้าดินเป็นด่างมาก ต้นจะเหลืองเพราะขาดธาตุเหล็ก

ตัดแต่งไฮเดรนเยียได้หมดทุกฤดู

ตัดแต่งไฮเดรนเยียได้หมดทุกฤดู
ภาพโดย J.Rim Lee จาก Pixabay

ถ้าอากาศหนาวจัดเหมือนกับในต่างประเทศ ใบของต้นไฮเดรนเยียจะร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่ควรตัดแต่งต้นไฮเดรนเยีย เพราะถือว่าต้นกำลัง ‘หลับอยู่’ แต่ในสภาพอากาศอย่างบ้านเรา ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องฤดู ขอเพียงให้คุณตัดแต่งกิ่งบ้างหลังช่วงออกดอก โดยเพียงแค่ตัดกิ่งที่มีแต่ใบไม่มีดอกหรือดอกเหี่ยวแล้วออก ให้เหลือตาอ้วนๆประมาณกิ่งละ 2 ตา เทคนิคนี้ใช้ได้ดีกับต้นที่มีใบโหรงเหรงหรือต้นที่มีพุ่มไม่สวยสดใสแล้ว ถ้าเราตัดแต่งมากเกินไปก็จะทำให้ออกดอกน้อยลงในฤดูถัดไป

หากคุณอยู่ในบริเวณที่อาจเกิดน้ำค้างแข็งได้ เช่น บนดอยอ่างขาง คุณต้องปกป้องไฮเดรนเยียของคุณเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ทางหนึ่งที่ทำได้ก็คือ อย่าเพิ่งตัดแต่งกิ่งจนกว่าจะเปลี่ยนฤดู ดอกที่โรยแล้วควรทิ้งไว้คาต้น ไม่ต้องตัดออก นอกจากจะดูแปลกตาดีแล้ว ยังช่วยปกป้องตาที่จะเติบโตในครั้งต่อไปอีกด้วย

การดูแลไฮเดรนเยีย

การดูแลไฮเดรนเยีย
ภาพโดย congerdesign จาก Pixabay

ไฮเดรนเยียจะไม่เป็นไรแน่นอน หากคุณจะลืมรดน้ำมันไปบ้าง แต่มันก็ต้องการการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำดอกจะเหี่ยวไม่น่าดู ปกติเราจะรดน้ำให้ชุ่มเพียงสัปดาห์ละสองครั้งก็เพียงพอ แต่ในวันที่มีอากาศร้อนจัดๆ หรือในช่วงฤดูร้อนอาจจะต้องรดน้ำทุกเช้าเพื่อไม่ให้ต้นเหี่ยวในตอนกลางวัน และหาวัสดุคลุมดินคลุมโคนต้นไม้ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ดินเสียความชื้นเร็วเกินไป

ถ้าหากไฮเดรนเยียไม่ออกดอกมาหลายฤดู สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากน้ำค้างแข็ง ตามมาด้วยปัญหาการตัดแต่งกิ่งช้าหรือตัดแต่งกิ่งออกมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการโดนแสงแดด หรือได้รับไนโตรเจนมากเกินไป ขั้นแรกจึงควรแก้ปัญหาด้วยการพิจารณาเรื่องตำแหน่งในการปลูก เลือกทำเลที่มีร่มเงาบังแดด และบังลมแรงได้ พยายามให้ไฮเดรนเยียถูกแดดอ่อนวันละ 4-6 ชั่วโมง

ปลูกไฮเดรนเยียสายพันธุ์ไหนดี?

ปลูกไฮเดรนเยียสายพันธุ์ไหนดี?
ภาพโดย Adriana Knop จาก Pixabay

ไฮเดรนเยียในต่างประเทศมีหลายชนิด ทั้งแบบช่อดอกทรงพีระมิด พันธุ์แคระ หรือ เป็นพันธุ์เลื้อยปลูกคลุมกำแพง แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการนำเข้าและมีเพียงจำนวนน้อย แทบจะกล่าวได้ว่า มีเพียง 2-3 สายพันธุ์เท่านั้น เช่น macrophyllae ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เราพบเห็นได้มากที่สุด และเวลาที่ใครเอ่ยถึงดอกไฮเดรนเยียก็จะนึกถึงภาพของสายพันธุ์นี้ขึ้นมาทันที