Monday, 16 September 2024

อาการลมชัก (Epilepsy) | สาเหตุและการรักษา

28 Jan 2021
1068

อาการลมชัก หรือภาษาอังกฤษว่า Epilepsy คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย

เป็นภาวะที่ร่างกายมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาจากเซลล์สมองอย่างทันทีทันใด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของสมอง อาการจะนอกเหนือการควบคุม เกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาไม่นาน มักเกิดขึ้นทันทีและหยุดไปเอง และมักเกิดซ้ำขึ้นเรื่อยๆ

โรคลมชักคืออะไร ?

โรคลมชักคืออะไร ?

การที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ จากไฟฟ้าของการชักเกิดขึ้นและกระจายออกไปในบริเวณส่วนต่างๆของสมอง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ก็มักจะพบในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากว่าผู้ป่วยจะรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง

สาเหตุของอาการลมชัก ?

  • อาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
  • ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมอง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันของตนเอง
  • สมองได้รับการกระทบกระเทือนซึ่งอาจเกิดในระยะแรกหรือระยะหลังการบาดเจ็บ
  • ความผิดปกติทางชีวเคมี
  • ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด
  • การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือ การติดเชื้อในสมอง
  • ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

ประเภทของอาการชัก

  1. อาการชักทั้งตัว (Generalized seizures)
    เกิดจากการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมองผิดปกติกระจายไปทั่วสมอง ไม่พบความผิดปกติที่เห็นได้ในเนื้อสมอง เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองทั้ง 2 ซีก อาจเป็น
    อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) ผู้ป่วยมักจะมีอาการเตือนนำมาก่อน มักเกิดขึ้นในเด็ก ทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้น ๆ ได้
    อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ส่งผลทำให้ผู้ป่วยล้มลง และหมดสติ
    อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนและขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักจะเกิดหลังจากตื่นนอน
  2. อาการชักเฉพาะที่ (Partial seizures/Focal seizures)
    ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาการชักประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับสมองเพียงบางส่วน ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น อาจเริ่มที่มือข้างใดข้างหนึ่ง แล้วกระจายไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ที่นิ้วมือ หัวแม่มือ นิ้วชี้ มุมปากและนิ้วหัวแม่เท้า หรือ อาจเป็นอาการชักแบบไม่รู้ตัว เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ

วิธีการรักษาโรคลมชักทำอย่างไร ?

วิธีการรักษาโรคลมชักทำอย่างไร ?
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

การวินิจฉัยโรคลมชักนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะบางอาการของโรคลมชักก็ใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคไมเกรน หรือภาวะตื่นตระหนก ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ หากตรวจพบสาเหตุของโรคลมชัก ต้องรักษาตามสาเหตุที่พบร่วมกับการควบคุมอาการชัก หรือหากไม่พบสาเหตุต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชัก

ทั้งนี้แล้วมี ผู้ป่วยโรคลมชักประมาณร้อยละ 20-40 ที่พบว่าผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองปกติทั้งๆ ที่เป็นโรคจริง และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่พบความผิดปกติจากการตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง โดยแพทย์จะต้องทำการรักษาตามสาเหตุของอาการที่พบ

  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เพื่อหาสาเหตุชักจากความผิดปกติในสมอง
  • ตรวจเลือดหาสาเหตุทางพันธุกรรม
  • การรักษาโดยการใช้ยากันชัก โดยแพทย์จะให้ยารับประทานตามประเภทของการชักและกำหนดระยะเวลาการรับประทานยา
  • การผ่าตัดสมอง
  • การใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 10
  • การให้อาหารแบบคีโตน

โรคลมชักรักษาหายหรือไม่?

โรคลมชักบางชนิดรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่มักควบคุมอาการได้ด้วยยารักษาโรคลมชัก หรือบางคนอาจต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัด

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก

  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานสิ่งใดๆ ในระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ๆ เพราะอาจจะทำให้สำลักได้
  • ตั้งสติ จัดสถานที่ให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดภัย
  • คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่ให้หลวมผ่อนคลาย
  • ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลัก
  • ระมัดระวังไม่ให้ศีรษะของผู้ป่วยกระทบกระเทือนอาจหาเสื้อผ้ามารองไว้ใต้ศีรษะ
  • ห้ามเขย่าตัว ยึดยื้อหรือดึงรั้งแขนและขาของผู้ป่วยขณะที่มีอาการชัก ตะโกนใส่
  • ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา
  • ประเมินผู้ป่วยด้วยการสังเกตลักษณะของการชักและการบันทึก ในขณะชักตลอดเวลา 
  • โทรแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 แจ้งข้อมูล
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ผู้ป่วยโรคลมชักควรดูแลตัวเองอย่างไร?

  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง
  • การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคชัก เช่น การอดนอน, เครียด, ดื่มเหล้า,เสียงดัง
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อตนเอง
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกกินอาหารที่มีสารอาหารครบ

อ้างอิง : pobpad , ram-hosp , bumrungrad