วันนี้แอดจะมาแนะนำเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆจากการการปลูกบอนไซ หรือศิลปะจากการจัดสวนถาดของการปลูกต้นไม้แคระ ทั้งเรื่องของการดูแลบอนไซ การตัดยอด การดัดบอนไซเพื่อจัดสวน และการเพาะบอนไซจากเมล็ด ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ลองมาอ่านกันเลย !
ปัจจุบันนี้ ความงามตามแบบศิลปะในตะวันออกของบอนไซได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เราสามารถหาซื้อบอนไซที่ตกแต่งสำเร็จรูปมาแล้วในรูปแบบต่างๆได้ตามร้านขายต้นไม้ หรือ ร้านอุปกรณ์การตกแต่งสวนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเพาะบอนไซที่มีลำต้นไม่สูงมากนัก แต่ถ้าเราต้องการเพาะบอนไซเองก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยซื้ออุปกรณ์สำเร็จรูปและเมล็ดมาเพาะเอง
ต้นไม้ที่นิยมทำบอนไซ มีต้นอะไรบ้าง ?
สายพันธุ์ไทย : โมก มะสัง หนามพรม ไกร เพรนน่า ตะโก มะขาม ไทรย้อย โพธิ์ มะเกลือ มะขามเทศ ทับทิม กระทุ่ม เข็มป่า หมากเล็กหมากน้อย เป็นต้น
สายพันธุ์ญี่ปุ่น : สนดำญี่ปุ่น ซากุระ สนโอซาก้า เมเปิ้ล ชิมปากุ ฮิโนกิ อาซาเลีย โทโช ซุกิ สนขาว เอโซะ เป็นต้น
การจัดสวนบอนไซ (Bonsai)
ไม้ยืนต้นส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนให้เป็นบอนไซได้ทั้งสิ้น เว้นแต่ไม้ที่เติบโตเร็วและไม้พุ่มบางชนิด ถ้าปลูกเป็นกลุ่มหลายๆต้นรวมกันในกระถางเดียวจะเรียกว่า “ไม้หมู่” โดยทั่วไปมักปล่อยให้โตขึ้นไปตรงๆทางด้านบน
บอนไซ หมายถึง การปลูกต้นไม้ไว้ในถาด ดังนั้น กระถางหรือถาดจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้การออกแบบจัดวางให้เกิดความสวยงาม เรานิยมใช้ถาดบอนไซแบบตื้นๆ ซึ่งมีรูที่ก้นถาด มีขายหลายรูปทรง เช่น รูปทรงกลม รูปไข่ รูปสี่เหลี่ยม หรือหกเหลี่ยม นอกจากนี้ ยังนิยมใช้หินและดินแดง เป็นวัสดุในการปลูกอีกด้วย
การเพาะบอนไซจากเมล็ด
การเพาะบอนไซจากเมล็ด อาจจะต้องใช้เวลากว่า 1 ปี ขึ้นไป อาจจะต้องใช้ความอดทนสูงสักหน่อยเพราะใช้เวลานานพอสมควรทีเดียว แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับการรอคอยแน่นอน เพราะบอนไซบางชนิดนั้น มีช่วงอายุยืนยาวมากๆถึง 3-4 ชั่วอายุคน ทำให้บางต้นมีราคาสูงมากๆ หากเราเริ่มต้นปลูกให้ปลูกในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ โดยเลือกกล้าไม้ที่มีลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 10 มม. ต้นกล้าบางชนิดอาจใช้เวลากว่า 2 ปีในกระถางเพาะ เพื่อรอให้มีรูปทรงที่สวยงาม
เทคนิคอีกอย่างในการเพาะเมล็ด พอดีแอดติดตามอยู่ จากเพจ บอนไซ-ไม้ดัด ครูสมพงษ์ Sompong Bonsai ท่านได้แนะนำว่า เทคนิคการทำให้ไม้เพาะเมล็ดมีรากรอบโคนที่ดีนั้นคือ ให้เราตัดรากแก้วออกก่อนนำไปปลูก เพราะต้นไม้มันจะเลี้ยงรากแก้วก่อนเสมอ เพื่อให้เกิดการหยุ่งลึกลงดินให้มากที่สุด ถ้าเราตัดรากแก้วออก ต้นไม้จะเลี้ยงรากรอบๆลำต้นแทน ทำให้โคนต้นของเราใหญ่ขึ้น เป็นทรงสวยงาม ช่วงที่เลี้ยงต้นกล้า อาจจะให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 หรือ ออสโมโคท เพื่อให้ต้นโตเร็วขึ้นก็ได้
การดัดบอนไซ
การดัดบอนไซ ควรทำตั้งแต่ไม้ยังอ่อน โดยบิดลำต้นเบาๆ แล้วใช้ลวดเส้นเล็กๆผูกปลายยอดของกล้าไม้แต่ละต้นโน้มลงมาเหนือผิวดิน แล้วผูกกับขอบกระถางให้แน่น
เมื่อกล้าไม้เติบโตจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นราว 1/2 นิ้ว ก็พร้อมที่จะดัดขั้นต่อไปโดยให้ตัดยอดออกจนเหลือลำต้นสูงเหนือดินประมาณ 6 นิ้ว แล้วเอาต้นไม้ออกจากดินหรือกระถางอย่างระมัดระวัง จากนั้นให้เล็มปลายรากออกประมาณ 1 ใน 3 เพื่อให้พอดีกับถาดจัดสวนบอนไซ
ขั้นต่อมา ให้วางต้นไม้ลงในถาด แล้วใช้ลวดอ่อนเส้นเล็กๆ ยึดรากกับรูใต้ถาดไว้ จากนั้น พันลวดขึ้นมาตามลำต้นและกิ่งเพื่อดัดให้โค้งตามรูปแบบที่ต้องการ แล้วบิดลวดให้ตั้งขึ้น 45 องศา เพื่อพันรอบลำต้นและกิ่ง แต่อย่าดึงลวดตึงเกินไป อย่าให้ลวดไขว้กัน จากนั้นจึงเติมดินปลูก ปิดทับด้วยพีตมอส แล้ววางกระถางไว้นอกบ้านในที่ร่มรำไร
การดูแลบอนไซ
เมื่อบอนไซอายุ 1 ปี ควรตัดรากใหญ่ของบอนไซเป็นครั้งที่ 2 และคลายลวดทุกปี เพื่อให้ต้นไม้เติบโต เราสามารถแต่งทรงบอนไซได้โดยใช้มือปลิดกิ่งตาที่เจริญแล้วออก และลดขนาดของใบได้โดยการเล็มใบทิ้ง ควรเลี้ยงบอนไซไว้กลางแจ้ง โดยอาจนำมาตั้งไว้ในห้องเพียงแค่บางช่วงเท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนดิน ให้เปลี่ยนตอนปลูกไปประมาณ 1-2 ปีแล้ว เมื่อแร่ธาตุในดินหมดไปหรือรากโตเต็มกระถาง โดยอาจจะเติม ดินทราย ขุยมะพร้าว ดินร่วน แกลบ และขี้เถ้า การดูแลใส่ปุ๋ย จะเน้นปุ๋ยชีวภาพ ไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะจะไปเร่งการเจริญเติบโตของบอนไซ เราอาจให้ปุ๋ยเพียงเดือนละครั้ง ใช้สูตรธรรมดา 16-16-16 สิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจในการดูแลบอนไซที่สุด คือ เรื่องของ การได้รับแสงแดด สภาพอากาศ การให้น้ำ (รดพอชุ่มๆ) สภาพดิน เป็นต้น และอย่าลืมหมั่นคอยตัดแต่งกิ่งให้ต้นไม้เป็นครั้งคราวด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บอนไซ แต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของการดูแล ผู้ปลูกควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะการเลี้ยงบอนไซไม่ต่างจากการเลี้ยงสัตว์ เราควรเลือกสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับเรามากที่สุดด้วย เนื่องจากบอนไซบางชนิดสามารถขาดน้ำเป็นเวลานานไม่ได้ บางชนิดก็มีความอดทนสูง หรือ บางชนิดอาจต้องการดูแลเอาใจใส่ที่มากเป็นพิเศษ จึงอยากให้ผู้ปลูกลองศึกษาให้ดีก่อนลงมือ.