Friday, 22 November 2024

การดูแลสนามฟุตบอล การรักษาสนามหญ้าให้เขียวสดอยู่เสมอ

คุณรู้หรือไม่? ว่า การดูแลสนามฟุตบอล หรือ การรักษาสนามหญ้าให้เขียวชอุ่มในฤดูแล้งด้วยการรดน้ำให้ชุ่มสัปดาห์ละครั้งในตอนเช้าก่อนแดดจัด ไม่ควรรดน้ำบ่อยๆ เพราะจะทำให้รากของหญ้านั้นตื้นขึ้น และทำให้วัชพืชขึ้นเร็วขึ้น

การดูแลสนามฟุตบอลหรือสนามหญ้า

การดูแลสนามฟุตบอล การรักษาสนามหญ้าให้เขียวสดอยู่เสมอ

การดูแลสนามฟุตบอลหรือสนามหญ้าทั่วไป ปกติแล้ว เราไม่ควรตัดหญ้าให้สั้นจนเกินไป แต่ควรตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 นิ้ว ส่วนในช่วงหน้าแล้งหรือตรงบริเวณที่ถูกย่ำอยู่บ่อยๆอาจจะตัดให้สูงกว่านั้นเล็กน้อยก็ได้ แต่ก็ควรที่จะตัดหญ้าอย่างสม่ำเสมอเมื่อหญ้าแห้งและสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ก่อนตัดหญ้าควรใช้คราดไม้หรือคราดเหล็ก คราดใบไม้และขยะต่างๆบนสนามออกเสียก่อน

การตัดหญ้าในสนามฟุตบอลครั้งแรกควรตัดแค่ 1 ใน 3 ของความยาวหญ้า แต่ภายหลังอาจตัดให้ต่ำกว่านั้นได้เล็กน้อย จากนั้นอาจตัดทุก 1-2 สัปดาห์ ถ้าหญ้ายาวมากให้ตั้งใบมีดเครื่องตัดหญ้าให้สูงไว้ก่อน จากนั้น 3-4 วันให้ตั้งใบมีดให้ต่ำลงมา

ถ้าหญ้าที่ตัดออกยาว และดินมีความชื้นสูง ให้นำไปใส่กล่องและนำไปกองไว้เพื่อทำปุ๋ยหมัก เพราะถ้าทิ้งไว้อาจจะทำให้มีมอสขึ้น ทำให้สนามเสียได้ แต่ถ้าหญ้าที่ตัดออกไม่ยาวและไม่ชื้นมาก อาจกองทิ้งไว้ในสนามให้เน่าสลายเป็นปุ๋ยให้สนามหญ้าได้

การให้ปุ๋ยสนามหญ้า

การให้ปุ๋ยสนามหญ้า

การให้ปุ๋ยสนามหญ้า ควรให้ปุ๋ยอย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อหญ้าเติบโตและแข็งแรงดี โดยให้เมื่อใดก็ได้ ปุ๋ยที่เหมาะสม คือ ปุ๋ยผสม เพราะมีองค์ประกอบของธาตุไนโตรเจน ฟอสเฟต และโปแตช ปุ๋ยมีอยู่ด้วยกันหลายยี่ห้อ ให้เลือกใช้ยี่ห้อที่เหมาะสมกับสนามหญ้าหรือสนามฟุตบอล คือมี ไนโตรเจนสูงซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้หญ้าเจริญเร็วและมีสีเขียวสด อัตราส่วนของแร่ธาตุมักเขียนไว้ข้างภาชนะบรรจุปุ๋ย ถ้าเขียนไว้ว่า 10-6-4 หมายถึง มีไนโตรเจนสูง ถ้ามีอัตราส่วน 7-7-7 แสดงว่า มีธาตุอาหารทั้ง 3 อย่างเท่าๆกัน

ให้ปุ๋ยในวันที่หญ้าแห้งแต่ดินยังชื้นอยู่ ถ้าจะใช้ปุ๋ยเม็ด ให้แน่ใจว่าได้หว่านปุ๋ยอย่างทั่วถึง อาจจะซื้อเครื่องหว่านปุ๋ยมาใช้เพื่อความสะดวก และเมื่อหว่านปุ๋ยเสร็จแล้วให้รดน้ำตามทันที

ถ้าใช้ปุ๋ยน้ำ ให้ผสมแล้วรดจากฝักบัว ถ้ามีเครื่องมือที่ใช้รดปุ๋ยน้ำควรเลือกแบบที่มีหน้าฝักบัวกว้างๆเพื่อไม่ให้เสียเวลามากนัก และควรใช้เชือกหรือเทปกาวทำเครื่องหมายเอาไว้บนสนามเพื่อป้องกันไม่ให้รดน้ำปุ๋ยซ้ำซ้อน

ปัญหาของสนามหญ้า

ปัญหาของสนามหญ้า

ทำความสะอาดสนามหญ้าหรือสนามฟุตบอลของคุณเป็นครั้งคราวด้วยคราดเหล็กเพื่อกำจัดใบไม้ร่วงและขยะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อราได้

การระบายอากาศในดินปีละครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากโดยเฉพาะดินที่แข็งตัวและอัดตัวกันแน่น ดินที่ระบายอากาศได้ดีจะระบายน้ำได้ดีเช่นกัน ทำให้หญ้าเจริญงอกงาม ขณะเดียวกันก็ช่วยควบคุมไม่ให้มอสเจริญเติบโต โดยใช้ส้อมพรวนดินเจาะรูลึก 4 นิ้ว ให้เป็นช่องห่างกัน 4 นิ้ว ตลอดสนามขณะที่ดินชื้น อย่าใช้ส้อมงัดแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้หญ้าเสีย ถ้าสนามหญ้ามีขนาดใหญ่มาก อาจจะซื้อเครื่องมือเจาะดินมาใช้ก็ได้

ควรกำจัดวัชพืชออกจากสนามให้หมด โดยใช้มือถอนหรือใช้เครื่องมือเก็บออกก็ได้ มีดปอกมันฝรั่งนั้นเหมาะที่จะใช้ขุดรากวัชพืชออก เพราะจะไม่ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ หรืออาจใช้ยากำจัดวัชพืชพ่นตามบริเวณที่ต้องการก็ได้

อาจให้ยากำจัดวัชพืชไปพร้อมกับปุ๋ยก็ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด ถ้าใช้ยากำจัดวัชพืชและปุ๋ยแยกกัน ควรให้ยากำจัดวัชพืชก่อน จากนั้นอีก 3 สัปดาห์จึงพ่นปุ๋ย สำหรับยากำจัดวัชพืชชนิดน้ำ ควรเลือกใช้ฝักบัวรดน้ำชนิดฝอย และต้องระวังอย่าให้กระเซ็นไปถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และควรทำเครื่องหมายไว้ด้วยเชือกเพื่อป้องกันการรดซ้ำซ้อนด้วย

ถ้าเกิดมอสขึ้นในสนามหญ้า หรือ สนามฟุตบอล แสดงว่า ดินขาดการระบายน้ำหรือไม่ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ ยากำจัดมอสจะประกอบด้วยทรายละเอียด เหล็ก ซัลเฟต และแอมโมเนียซัลเฟต ในอัตราส่วน 24 : 1 : 3 ซึ่งจะกำจัดมอสได้ชั่วคราว วิธีแก้ไขที่ดีที่สุด คือ ปรับแต่งดินให้มีการระบายอากาศและน้ำที่ดี หรือตัดแต่งกิ่งไม้ที่ให้ร่มเงาออก

พื้นสนามที่เตียนเป็นหย่อมอาจเกิดจากการระบายน้ำในดินที่ไม่ดี หรือ อาจถูกเหยียบย่ำอยู่เป็นประจำ ให้แก้ไขที่ต้นเหตุ โดยหว่านเมล็ดหญ้าลงไปซ่อมแซม ใช้คราดตะกุยพื้นให้ทั่ว และคราดซ้ำให้เรียบ จากนั้นหว่านปุ๋ย 1 กำมือต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แล้วหว่านเมล็ดหญ้า หรืออาจขยายพันธุ์จากไหลหรือลำต้นของหญ้าก็ได้ นำตาข่ายมาขึงและยึดไว้ ด้วยหลักไม้คลุมแปลงเพื่อกันนกและรดน้ำโดยโปรยเป็นฝอย

หญ้าที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ …

หญ้าที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ ...
  • หญ้าแพรก (ภาษาอังกฤษ : Cynodon dactylon) : เป็นหญ้าที่มีตามธรรมชาติ ทนการเหยียบย่ำได้ดี ทนร้อน ทนแล้ง แต่ไม่ทนร่มและไม่ทนดินเค็ม นิยมปลูกเป็นสนามนั่งเล่น สนามกีฬา สนามกอล์ฟ ปัจจุบันมีคนนำเข้าสายพันธุ์อื่นๆจากต่างประเทศอีก 3 ชนิด นอกจากนี้ยังมีหญ้าลูกผสมอีกหลายชนิดที่เหมาะจะนำมาทำกรีนสนามกอล์ฟและแฟร์เวย์ บางชนิดโตช้าและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงไม่ค่อยมีคนนิยมทำเป็นสนามหญ้าตามบ้าน
  • หญ้านวลน้อย (ภาษาอังกฤษ : Zoysial mathella) : นิยมทำสนามนั่งเล่น สวนหย่อม สนามฟุตบอล และสนามกีฬา หญ้าชนิดนี้มีสีสวย ทนแล้ง ทนร่ม ดูลได้ง่าย
  • หญ้าญี่ปุ่น (ภาษาอังกฤษ : Zoyzia japonica) : เป็นหญ้าที่มีสีสวย เจริญเติบโตช้า ใบหยาบแข็ง ถ้าดินดีและระบายน้ำได้ดี หญ้าจะเจริญงอกงามมาก นิยมปลูกตามสนามกีฬา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ ในปัจจุบันมีหญ้าญี่ปุ่นชนิดลูกผสมอยู่อีกหลายชนิด
  • หญ้าเซนต์ออกัสติน (ภาษาอังกฤษ : Stenotaphsum secundatum) : โตเร็ว ทนดินเค็ม ปลูกได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย นิยมปลูกในบริเวณที่มีร่มเงาและพื้นที่ที่ต้องการหญ้าใบใหญ่
  • หญ้ามาเลเซีย (ภาษาอังกฤษ : Axonopus compressus) : เป็นหญ้าใบใหญ่ สามารถขึ้นในที่ร่มรำไรได้ดี โตเร็ว ขึ้นได้ดีในที่ดินเลวแต่ไม่ทนดินเค็ม
  • หญ้านวลจันทร์ (ภาษาอังกฤษ : Polytrias amaura) : โตเร็ว ปลูกง่าย และหาซื้อได้ง่าย