ทานตะวัน หรือ ดอกทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบอเมริกากลาง มีลักษณะเป็นดอกสีเหลืองบานใหญ่สะดุดตาคล้ายกับดวงอาทิตย์ มีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งแบบเล็กและแบบยักษ์ มาลองอ่านเกร็ดน่ารู้และความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์นี้ดูกัน !
ทานตะวัน “วิธีปลูกที่ดีที่สุด”
การปลูกทานตะวัน ควรปลูกแบบเพาะเมล็ดทานตะวันจาก 2-3 กลุ่ม ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสามรถระบายน้ำได้ดี การปลูกทานตะวันจำเป็นจะต้องปลูกไว้กลางแจ้ง และควรเว้นระยะห่างเมล็ดแต่ละกลุ่มประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นเมื่อเมล็ดแตกต้นกล้า จึงค่อยๆลดจำนวนต้นลง เพื่อให้เหลือต้นกล้าที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่ม
ทานตะวันสายพันธุ์เล็ก
แม้ว่าในสวนจะมีพื้นที่ไม่พอ สำหรับต้นทานตะวันที่ปรกติจะสูงประมาณ 3 เมตร แต่ยังมีทานตะวันพันธุ์เตี้ยจำนวนมากให้ปลูก เช่น “ซันโกลด์” (Sungold) ซึ่งสูงประมาณ 1 เมตร พร้อมกับดอกสีเหลืองคู่หนาดก พันธุ์ “บรอนซ์ เฉด” (Broze Shades) สูงประมาณ 1.5 เมตร ออกดอกเดี่ยวไล่โทนสีตั้งแต่สีเหลืองอร่ามไปถึงสีน้ำตาลอมเหลืองและสีน้ำตาล และสายพันธุ์แคระอย่าง “เท็ดดี้ แบร์” (Teddy Bear) ซึ่งสูงประมาณ 65 เซนติเมตร มีดอกคู่สีเหลือง รูปทรงคล้ายเข็มหมุด
ทานตะวันสายพันธุ์ยืนต้น
ทานตะวันพันธุ์ Helianthus salicifolius เป็นพันธุ์ยืนต้นมีรูปทรงเพรียว ดอกสีเหลืองดอกเล็ก 8 เซนติเมตร กลีบดอกเบ่งบานเต็มที่พร้อมกับแกนดอกสีดำ ทานตะวันพันธุ์นี้สามารถเจริญเติบโตได้ถึง 1.5 เมตร แต่พันธุ์ที่เตี้ยกว่านี้ อย่าง ‘โกลเด้น พีระมิด’ (Golden Pyramid) ซึ่งสูง 65 เซนติเมตร จะสามารถหาปลูกได้ทั่วไป ชอบอากาศกำลังดี ค่อนข้างเย็น ดินอุดมสมบูรณ์และแสงแดดส่องถึง อีกทั้งดอกยังเหมาะจะตัดปักแจกันด้วย
จะปลูกสายพันธุ์ยักษ์ได้อย่างไร?
ดอกงามเด่นของทานตะวันยักษ์อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตร ถ้าต้องการปลูกต้นทานตะวันยักษ์ให้ได้ผลดีที่สุด ควรเพาะเมล็ดในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน เพื่อให้ต้นออกดอกทันช่วงคริสต์มาส แม้ว่าจะสามารถนำต้นทานตะวันย้ายไปปลูกใหม่ได้ แต่ต้นทานตะวันจะมีโอกาสโตสูงขึ้นมากกว่าถ้าปลูกโดยการเพาะเมล็ดในบริเวณที่ต้องการให้ออกดอกตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องย้ายที่ปลูกใหม่ เมื่อต้นทานตะวันสูงขึ้น ควรปักไม้หลักค้ำเพื่อรองรับไม่ให้ต้นโน้มลง ขณะที่ลมพัดหรือหลังจากฝนตก เพราะน้ำฝนที่เกาะอยู่ตามใบอาจถ่วงน้ำหนักต้นได้
ดอกไม้แห่งดวงอาทิตย์
แม่หมอของชาวเผ่าอินคาในเปรูจะสวมมงกุฏทองคำรูปดอกทานตะวัน เพราะเชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แสดงถึงดวงอาทิตย์ ตามจินตนาการของคน รูปลักษณ์ของดอกทานตะวันกับดวงอาทิตย์เหมือนกันอย่างน่าประหลาด ทำให้ดอกไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “ดอกทานตะวัน” นอกจากจะมีดอกที่สวยงามแล้ว ต้นทานตะวันยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย เริ่มตั้งแต่ใบ ใช้ทำเป็นฟางสำหรับปศุสัตว์ กลีบดอกนำมาสกัดสีย้อมได้ น้ำมันทานตะวันยังใช้ทำอาหารได้ ดีพอๆกับน้ำมันมะกอก ใช้เป็นสารหล่อลื่น ใช้ผสมสบู่และใช้ในการผลิตสีอีกทั้งเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้วยังใช้เลี้ยงปศุสัตว์ได้ด้วย นอกจากนี้เมล็ดใช้อบคั่วกินได้ หรือเอามาผสมแป้งเพื่อทำขนมปัง และที่แปลกยิ่งกว่าคือ เมล็ดทานตะวันอบ นำมาผสมในเครื่องดื่มได้ ว่ากันว่ารสชาติไม่ต่างจากกาแฟเชียวละ!
การปกป้องดูแลต้นทานตะวัน
การดูแลต้นทานตะวันที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ต้องมั่นใจได้ว่ามีการป้องกันทาก ซึ่งชอบต้นทานตะวันเป็นพิเศษ อย่างดีพอ วิธีการป้องกัน คือ โรยสารเคมีกำจัดทาก บริเวณรอบๆโคนต้น และปักตาข่ายลวดลงดินรอบๆต้นเช่นกัน ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ต้นพืชเหนือดินกระทบกระเทือนและป้องกันไม่ให้รากใต้ดินเสียหายด้วย
ตัวดูดซับความชุ่มชื้น
ถึงแม้ว่าทานตะวันจะเจริญงอกงามเมื่อดอกเผชิญแสงอาทิตย์ แต่รากต้นก็ทนทานต่อความเปียกแฉะได้ดี ดังนั้นจึงสามารถนำคุณสมบัติการดูดซับความชื้นของต้นทานตะวันมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยปลูกกลุ่มทานตะวันที่ฐานกำแพงหรือรั้วในสวนตรงบริเวณที่เปียกแฉะในต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการปลูกต้นทานตะวันเพื่อช่วยดูดซับความชุ่มชื้นและช่วยปรับปรุงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังนั่นเอง
อ้างอิง : wikipedia , karkestr2559