Tuesday, 29 October 2024

ลัทธิคอมมิวนิสต์ : การปฎิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

คาล์ก มาร์กเขียนไว้ว่า ‘แต่ก่อนนั้นนักปรัชญาพยายามอธิบายโลก ภารกิจของเราคือต้องเปลี่ยนแปลงโลก’ คำเรียกร้องให้ลงมือปฏิบัติการนี้เป็นกุญแจสำคัญที่เปลี่ยนทฤษฎีทางสังคมและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 19 ไปสู่ความเคลื่อนไหวของมวลชนในศตวรรษที่ 20 สังคมไร้ชนชั้นมีอุดมการณ์ให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันแทนที่จะหาผลประโยชน์ส่วนตัว อุดมการณ์นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในลัทธิสังคมนิยมทุกรูปแบบ ลัทธิคอมมิวนิสต์วางอยู่บนความเชื่อมั่นว่าประวัติศาสตร์จะหลีกเลี่ยงกระบวนการนี้ไปไม่ได้ จะต้องนำมาบังคับใช้เต็มรูปแบบ และจำเป็นต้องใช้ลัทธิเผด็จการจากชนชั้นกรรมาชีพ

ผู้ที่นิยมลัทธิของมาร์กซ์

สำหรับพวกที่ยึดถือลัทธิมาร์กแล้ว การต่อสู้ของชนชั้นเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลง ผลักดันสังคมไปข้างหน้าจากความเป็นทาสและลัทธิศักดินาไปสู่ลัทธินายทุนและสุดท้ายสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ มาร์กกล่าวไว้ว่า ระบบที่เป็นอยู่ไม่สามารถก่อให้เกิดการปฏิรูปได้ เนื่องจากพลังปฏิกิริยาและผลประโยชน์ส่วนตน จำเป็นจะต้องมีการปฏิวัติชนชั้นกลางและนายทุนก่อนที่จะสามารถโค่นล้มลัทธิศักดินาได้ และชนชั้นกรรมกรจะต้องก้าวไปข้างหน้าโดยทำลายลัทธินายทุนและชนชั้นกลางเสีย เมื่อนั้นจึงจะมีหนทางไปสู่ความเสื่อมของรัฐ ในที่สุดจึงจะเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่ไร้ชนชั้นอย่างแท้จริง

คาร์ล มาร์ก

วาดภาพสังคมคอมมิวนิสต์ที่ทุกคนจะ ‘ทำงานตามความสามารถและได้รับการตอบแทนตามความต้องการ’ ใน ค.ศ.1917 หลักการของคาร์ล มาร์ก เป็นแรงดลใจให้แก่พวกบอลเชวิกในรัสเซียจนแปรโฉมประวัติศาสตร์ไป

นักสังคมนิยมอื่นๆใช้การรณรงค์ด้วยคุณธรรมและการลงประชามติ ความรุนแรงของลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดจากความเชื่อที่ว่าการต่อสู้อย่างรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ การใช้ความรุนแรงสุดขั้วเช่นนี้ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ครอบครองประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก คือ รัสเซีย และประเทศที่มีประชากรมากที่สุด คือ จีน

ความสำเร็จครั้งแรกของลัทธิคอมมิวนิสต์

ลัทธิคอมมิวนิสต์
โปสเตอร์ในทศวรรษที่ 1930 สรรเสริญมาร์ก เองเกลส์ เลนิน และสตาลินว่าเป็นเสาหลักของคิมมิวนิสต์สี่เสา ในขณะที่กรรมกรโซเวียตเดินขบวนไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่

ลัทธิคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จ เพราะว่าลัทธินี้อยู่ในรูปของการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตามที่ วลาดิมีร์ เลนิน คิดขึ้น คือ ไม่ยอมให้มีฝ่ายค้าน แต่ความไม่ยืดหยุ่นและไร้มนุษยธรรมของลัทธินี้ได้ย้อนกลับมาทำลายตัวเองในที่สุด คอมมิวนิสต์ตามแบบของเลนินจึงล่มสลายลงในสหภาพโซเวียต เพราะมันเบี่ยงเบนไปสู่พรรคและการบูชาผู้นำ และนำไปสู่การสังหารคนจำนวนมาก

รัสเซีย เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่คอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จขวบจนถึงปี 1945 มาร์กยืนยันว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะรุ่งเรืองอยู่ในประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมซึ่งได้มีการปฏิวัติของชนชั้นกลางไปแล้ว ส่วนรัสเซียนั้นกลับกัน ผู้คน 4 ใน 5 คนเป็นชาวนาที่ปรารถนาจะเป็นเจ้าของที่ดินของตัวเอง ชัยชนะของรัสเซียฉีกตำราลัทธินี้ทิ้ง ลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในประเทศที่ยากจน

พรรคบอลเชวิกของเลนินนั้นคับแคบ แต่เต็มไปด้วยกฏเกณฑ์และการคุมเข้มอย่างมาก กลายเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ พรรคนี้เกือบจะไม่มีบทบาทใดๆในกิจการภายในของรัสเซียเลย จนกระทั่งความพ่ายแพ้ในแนวรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 การขาดแคลนอาหารและการทุจริตในวงราชการ ก่อให้เกิดการจลาจลในปี 1917 พรรคบอลเชวิกเป็นพรรคที่มีคนสนใจอยู่เพียงไม่กี่คน จึงทำให้มีตำรวจลับซึ่งแทรกซึมเข้าไปอย่างง่ายดายจนทำให้บรรดาผู้นำพรรคต้องติดคุกและถูกเนรเทศ เมื่อกองทหารประจำการที่เปโตรกราดปฎิเสธไม่ยอมยิงใส่พวกที่ประท้วงและก่อกบฏขึ้นในเดือนมีนาคม 1917

ภายในหนึ่งสัปดาห์ พระเจ้าซาร์ก็สละราชสมบัติและมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่นิยมประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา พวกบอลเชวิกไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าหรือก่อการปฏิวัติครั้งนี้ อย่างไรก็ดี พวกเขามุ่งมั่นที่จะหาประโยชน์จากการปฏิวัติ เป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ เลนันกลับสู่เปโตรกราดจากการถูกเนรเทศไปสวิตเซอร์แลนด์ คำเรียกร้อง “สันติภาพ ขนมปัง และดินแดน” ของเขาแพร่หลายออกไป แต่เมื่อพวกบอลเชวิกไม่สามารถที่จะได้เสียงส่วนใหญ่ในโซเวียตฝ่ายซ้ายที่มีอิทธิพลได้ เลนินจึงตัดสินใจเข้ายึดอำนาจด้วยการก่อรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 1917 พวกบอลเชวิก ซึ่งมี เลออน ทร็อตสกี เป็นต้นคิดและผู้นำ เข้าจับกุมสมาชิกในรัฐบาลและยึดครองเครือข่ายโทรศัพท์ ที่ทำการไปรษณีย์ และธนาคารในเปโตรกราดไว้ “เราจะตั้งกรรมการให้เป็นผู้ควบคุมการผลิต เราจะสร้างรัฐสังคมนิยทกรรมาชีพ การปฏิวัติของสังคมนิยมในโลกจงเจริญ”

ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์
ประเทศในโลกนี้ (สีแดง) หรือก่อนหน้านี้ (สีส้ม) มีรัฐบาลคอมมิวนิสต์/ผู้ที่นิยมลัทธิของมาร์กซ์
(ภาพจาก wikipedia)

เลนินเคยเขียนไว้ว่า ขบวนการสังคมนิยมในปารีส เมื่อปี 1871 ล้มเหลวลงเนื่องจาก ‘ความใจดีอย่างล้นเหลือ’ ของชนชั้นกรรมกร เขาไม่ต้องการจะทำผิดซ้ำสอง รัฐสภาใหม่ถูกปลดไปด้วยการใช้ปืนจ่อ โซเวียตรัสเซียกลายเป็นประเทศแรกที่มีพรรคเดียวมีการก่อตั้ง เชกา (Cheka) หรือตำรวจลับขึ้นเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม พระเจ้าซาร์และพระราชวงศ์ถูกยิงสำเร็จโทษ กองทัพแดงต่อสู้กับกองทัพขาวฝ่ายขวาในสงครามกลางเมืองที่ดุเดือด

เมื่อเลนินสิ้นชีวิตในปี 1924 ศพของเขาได้รับการอาบน้ำยาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยและตั้งไว้ในที่บรรจุศพในจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก คอมมิวนิสต์เชื่อกันว่าเป็นลัทธิที่มีหลักเกณฑ์ กลับกลายเป็นลัทธิบูชาผู้นำ ตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่เชิดหน้าชูตาของเลนินถูก โจเซฟ สตาลิน ยึดครองและยิ่งทำให้สำคัญมากขึ้นกว่าเดิม สตาลินเป็นเลขาธิการพรรคซึ่งบีบให้สหภาพโซเวียตมีการปฏิวัติครั้งที่สองที่ถอนรากถอนโคนหนักขึ้น

รูปปั้นของวลาดิมีร์ เลนินในกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก
(ภาพจาก : wikipedia)

นับแต่ปี 1930 ชาวนาถูกยึดที่ดินทำกินและถูกยิงตาย เนรเทศไปหรือบังคับให้ทำไร่นารวมแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเกษตร ความหวาดกลัวและอดอยากที่มาพร้อมกับกระบวนการนี้อาจจะฆ่าคนไปถึง 14 ล้านคน หลังจากไร่นาแล้วก็มาสู่โรงงาน มีการนำแผนการ 5 ปี ซึ่งมอสโกควบคุมอย่างเข้มงวด มาใช้เพื่อให้โซเวียตรัสเซียไล่ตามอุตสาหกรรมของสหรัฐฯให้ทัน เศรษฐกิจของโซเวียตเติบโตขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในทศวรรษที่ 1930 แต่ต้องสูญเสียผู้คนอย่างมหาศาลเพื่อแลกกับการเติบโตนี้ สตาลินจัดการจนมั่นใจว่าคู่อริทางการเมือง รวมอยู่ในพวกเหยื่อของการกวาดล้างทั่วประเทศในศตวรรษที่ 1930 การพิจารณาคดี การประหารชีวิต และการใช้แรงงานทาส เพิ่มยอดผู้เสียชีวิตด้วยฝีมือพวกบอลเชวิกอีกนับล้านคน

ในปี 1941 ฮิตเลอร์หันไปหาสตาลิน ความพยายามทางอุตสาหกรรมของรัฐเซียรวมตัวกับความอดทนและความกล้าหาญของชาวรัสเซียเพื่อเอาชนะนาซีเยอรมันในการต่อสู้บนแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 มีการบังคับใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ถูกกองทัพแดงยึดครอง ในที่อื่น การปฏิวัติของคอมมิวนิสต์เสร็จสมบูรณ์ลงในจีนในปี 1949 ภายใต้การปกครองของเหมาเจ๋อตง พวกกบฏที่นำโดยคอมมิวนิสต์ระเบิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกา

การเกิดรอยร้าวในระบบ

ข้อผิดพลาดเก่าๆยังคงมีอยู่ ข้าราชการประจำพรรคหรือ ‘ชนชั้นใหม่’ นั้นหลงอำนาจจนลืมตัว การควบคุมของรัฐไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวเข้ากับความต้องการของโลกสมัยใหม่ได้ ความโหดเหี้ยมของโซเวียตรัสเซียในยุคก่อนสงครามเกิดขึ้นซ้ำอีกในอุดมการณ์ปฏิวัติแบบใหม่ในจีนระหว่างการปฎิวัติวัฒนธรรม การรุกรานของโซเวียตในฮังการีในปี 1956 และในเชกโกสโลวะเกียในปี 1968 การปฏิวัติต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ และการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปักกิ่งในปี 1989 ล้วนแสดงให้เห็นว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องอาศัยการใช้กำลังจึงจะอยู่รอดได้ ‘ลัทธิปูชนียบุคคล’ ตามแนวของสตาลินยังคงสืบต่อมาโดยประธานเหมา คิมอิลซุง ในเกาหลีเหนือ และจอมเผด็จการโรมาเนีย นิโคเล เชาเชสกู

1942 ภาพของโจเซฟสตาลินผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของสหภาพโซเวียต
ภาพของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของสหภาพโซเวียต ในปี 1942
(ภาพจาก : wikipedia)

สหภายโซเวียต ซึ่งยากจนลงจากการแข่งขันสร้างอาวุธในสงครามเย็นล่มสลายลงในปี 1988 ประมุขคนสุดท้าย มิคาอิล กอร์บาชอฟ เชื่อว่า ระบบคอมมิวนิสต์จะสามารถปฏิรูปได้ด้วย ‘เปเรส ทรอยกา’ หรือการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และด้วย ‘กลาสนอสต์’ หรือการเปิดประเทศ แต่อุตสาหกรรมเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง และประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก ตามมาด้วยสหภาพโซเวียตเอง ฉวยโอกาสใช้ ‘กลาสนอสต์’ สลัดระบบการกดขี่ มว่าระบบคอมมิวนิสต์เองก็ยังไม่ถึงบทอวสาน ในปี 1995 พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียถูกปลุกขึ้นมาใหม่และได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยถึงร้อยละ 20 ในขณะที่ จีน พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงครองอำนาจทางการเมืองอยู่.