ประวัติศาสตร์วันนี้ขอเสนอ : วิวัฒนาการของธนาคารจากยุคกลางสู่ยุคปัจจุบัน คำว่า “ธนาคาร” หรือ Bank ในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า “Banco” ในภาษาอิตาเลี่ยน ที่แปลว่า “ม้ายาว” นอกจากนี้ คำว่า Bank ก็อาจมาจากคำว่า Banck ในภาษาเยอรมัน ซึ่งหมายถึง “กอง”ไม่ว่าคำว่า Bank จะมาจากภาษาใดก็ตาม ธนาคารก็เป็นสถาบันการเงิน ที่เป็นตัวกลางที่สำคัญ ต่อเศรษฐกิจทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
วิวัฒนาการของธนาคาร
แม้จะมีการใช้เงินตราในรูปของเหรียญเพื่อการแลกเปลี่ยนและการให้กู้ยืมมาตั้งแต่โลกยุคโบราณแล้ว แต่ระบบที่คล้ายคลึงกับระบบการธนาคารปัจจุบันที่ใช้ในหมู่พ่อค้าเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในอิตาลีในยุคกลาง ในปลายศตวรรษที่ 12 ผู้รับแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือ bancherius ในเมืองเจนัวร์รับฝากเงินจากนักธุรกิจท้องถิ่น และคอยเป็นผู้ให้เครดิต
ในศตวรรษที่ 13 เกิด banchi di scritta ขึ้นในเวนิส ที่ไม่เพียงแต่รับฝากเงิน แต่ยังโอนการจ่ายเงินจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายได้โดยผ่านกลไกที่เรียกว่าตั๋วแลกเงิน ธุรกรรมชนิดนี้รุ่งเรืองขึ้นในธนาคารเมดิซีซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฟรอเรนซ์ ธนาคารนี้บริหารงานเป็นเครือข่ายสาขาอย่างมั่นคงเพราะบารมีของลอเรนโซ เดอเมดิซี มาจนเขาเสียชีวิตในปี 1492
จากธนาคารระดับเมืองสู่ธนาคารระดับชาติ
นายธนาคารชาวเจนัวยังมีบทบาทสำคัญอยู่ แต่บทบาทนี้ค่อยๆย้ายขึ้นเหนือสู่พวกฟุกเกอร์แห่งออกสบูร์ก ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ทางการเงินของเยอรมันนี บุคคลสำคัญคือ “จาคอบ ฟุกเกอร์” มหาเศรษฐี ‘the rich’ (1459-1525) ผู้ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการให้เงินสนับสนุนการขยายดินแดนจักรวรรดิฮับสบว์กของพระเจ้าชาล์สที่ 5 ในศตวรรษที่ 16 เขาสืบเชื่อสายมาจากพ่อค้าขนสัตว์ที่ร่ำรวยจากการทำเหมืองเงินด้วย
ระบบการธนาคารพาณิชย์พัฒนาขึ้นมากในยุโรปตลอดสองศตวรรษต่อมาโดยเริ่มจากช่างทองในลอนดอนที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรากับพ่อค้าที่นำทองแท่งมาฝากเก็บไว้ แต่ก็ยังมีสถานะเป็นธุรกิจเล็กๆที่ลงทุนโดยเอกชน และยังไม่เป็นระบบครบวงจร ตามแบบอย่างของเศรษฐกิจยุคก่อนอุตสาหกรรมโดยทั่วไป
การพัฒนาครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีธนาคารของรัฐเกิดขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นธนาคารกลาง ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1694 ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษทำหน้าที่หลายด้าน รวมทั้งการเป็นธนาคารของรัฐบาลที่ให้บริการฝากถอนประจำวัน ให้รัฐบาลกู้ยืมเงินในยามสงคราม รักษากฎระเบียบในการออกธนบัตรและช่วยพัฒนาระบบการเงินปัจจุบันนี้
ธนาคารแห่งอังกฤษทำหน้าที่เป็นนายธนาคารให้แก่ธนาคารที่แลกเปลี่ยนเอกสารทางการเงิน ดำเนินนโยบายทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลจัดการหนี้สินระดับชาติ ธนาคารกลางแพร่หลายมากขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 19 และเมื่อทศวรรษที่ 1920 การประสานงานของธนาคารกลางระหว่างประเทศก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบของโลกในปัจจุบัน
ในต้นศตวรรษที่ 19 ลอนดอนก้าวเข้ามาเป็นผู้นำศูนย์กลางการเงินของโลกแทนอัมสเตอร์ดัม สิ่งที่ทำให้ลอนดอนก้าวหน้ามากขึ้น คือการเติบโตของธนาคารเอกชนก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น แบริงส์ ,รอทชิลด์ส ,ชโรเดอร์ส ,ฮัมโบรส์ ,ลาซาร์ดส์ และ ไคลน์วอร์ตส์ เป็นตระกูลที่ต้องการจะก้าวขึ้นสู่ระดับนานาชาติและพร้าที่จะเสี่ยง ลอนดอนจึงดึงดูดตระกูลเหล่านี้ให้ก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญในการออกเงินสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม แบริงส์ เคยได้รับฉายาว่าเป็น ‘มหาอำนาจที่ 6’ ของยุโรป
ระบบการธนาคารแบบร่วมถือหุ้นนับเป็นการปฏิวัติระบบการธนาคารในศตวรรษที่ 19 ธนาคารเหล่านี้ไม่ได้มีเอกชนเป็นเจ้าของดังเช่นที่เคยมีมา แต่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมากเป็นเจ้าของร่วมกัน การกระทำเช่นนี้เปิดโอกาสให้ระบบทุนนิยมและธุรกรรมได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น มีการใช้เช็คเพื่อถอนเงิน และมีการใช้หนี้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ระบบการธนาคารสมัยใหม่
เมื่อถึงทศวรรษ 1920 ระบบการธนาคารทั่วโลกที่พัฒนาแล้วก็เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น มีการลงทุนอย่างมหาศาลและตอบสนองต่อความต้องการของธนาคารกลางอย่างรวดเร็ว ธนาคารเหล่านี้ให้บริการทางการเงินและการให้สินเชื่ออย่างกว้างขวาง เช่น การบริการพิเศษแก่เอกชนผู้ซื้อบ้านในอังกฤษ มีการรวมตัวกันทำให้เกิด ‘สี่ยักษ์ใหญ่’ จากธนาคารที่แลกเปลี่ยนเอกสารการเงินกัน ซึ่งประกอบด้วย บาร์เคลส์ ,ลอยด์ส ,มิดแลนด์ และเนชันแนล เวสต์มินสเตอร์ ธนาคารเล็กๆบางแห่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ควบคู่ไปกับธนาคารที่ให้บริการพิเศษ รวมทั้งธนาคารเพื่อการออมทรัพย์และการลงทุน.
อ้างอิง : wikipedia