Friday, 26 April 2024

ประวัติศาสตร์ : รัฐบุรุษเหล็ก ออตโต ฟอน บิสมาร์ก

อ็อทโท เอดูอาร์ท เลโอพ็อลท์ ฟ็อน บิสมาร์ค-เชินเฮาเซิน (Otto Eduard Leopold von Bismarck-Schönhausen) หรือ ออตโต ฟอน บิสมาร์ก เป็นรัฐบุรุษและนักการทูตแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ผู้นำทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรประหว่างทศวรรษ 1860 ถึง 1890

ทำความรู้จัก : ออตโต ฟอน บิสมาร์ก

ออตโต ฟอน บิสมาร์ก (ปี 1815-1898) เขาเป็นบุคคลโดดเด่นในประวัติศาสตร์เยอรมันนีและยุโรปมาตั้งแต่ปี 1862 เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดีแห่งปรัสเซียมาจนถึงปี 1890 กิตติศัพท์ “รัฐบุรุษเหล็ก” อันน่าเกรงขามของเขาเกิดจากความสำเร็จทางการเมืองและความตั้งใจจะใช้สงครามเพื่อรักษาความมั่นคงของปรัสเซีย ในการปกครองยุโรปตอนกลางที่พูดภาษาเยอรมัน

ประวัติศาสตร์ : รัฐบุรุษเหล็ก ออตโต ฟอน บิสมาร์ก
ออตโต ฟอน บิสมาร์ก
(ภาพจาก : Wikipedia)

บิสมาร์กเกิดในตระกูลขุนนางปรัสเซีย เป็นคนร่างใหญ่ใจกล้า ตอนหนุ่มๆ ดวลดาบเก่ง ในปี 1842 เขาได้รับการสดุดีจากกษัตริย์เฟรเดอริกวิลเลียมที่ 4 เพราะได้ช่วยชีวิตชายสองคนไว้ไม่ให้จมน้ำตาย เขาไม่กลัวเกรงทั้งอหิวาตกโรคที่กำลังระบาด (เขาไม่เชื่อว่ามันเป็นโรคติดต่อ) หรือผู้ที่พยายามลักลอบเข้ามาสังหารเขา เขาเคยคว้าคอชายที่ยิงปืนใส่เขาสองนัดได้ ในเดือนพฤษภาคม 1866

ออตโต ฟอน บิสมาร์ก

อัครเสนาบดีคนแรกของจักรวรรดิเยอรมัน สร้างความตกตะลึงให้แก่สมาชิกรัฐสภาด้วยการดำเนินนโยบายทางทหาร ‘เลือดและเหล็ก’ เพื่อรวมชาติเยอรมันเข้าด้วยกัน

บิสมาร์กเข้ารับราชการในปรัสเซียเป็นผู้บริหารงานด้านศาล แต่รู้สึกว่าตนไม่สามารถทำงานในระบบราชการได้ จึงลาออก ในช่วงปี 1839 ถึง 1847 เขาใช้ชีวิตเป็นขุนนางในชนบท แค่อยู่ได้ไม่นานก็เร่ิมเบื่อหน่ายชีวิตชนบท

บิดาแห่งชาติ

ในปี 1847 บิสมาร์กเข้าสู่รัฐสภาของปรัสเซีย รัฐธรรมนูญใหม่ของปรัสเซียให้โอกาสฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมแต่ก็มีฝีมือทางการเมืองสมัยใหม่ให้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลได้ บิสมาร์กพิทักษ์ระบอบกษัตริย์โดยต่อสู้กับพวกเสรีนิยม และได้รับรางวัลตอบแทนความจงรักภักดีในปี 1851 เมื่อพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีของปรัสเซียในสภาไดเอ็ตของสมาพันธรัฐเยอรมันที่แฟรงก์เฟิร์ต นับเป็นการเลื่อนตำแหน่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนด้านการทูตมาก่อนอย่างไม่เคยปรากฏ จากนั้นเขาได้รับคำสั่งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำเซนส์ปีเตอร์สเบิร์กและปารีส ก่อนที่จะถูกเรียกตัวกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1862

ประวัติศาสตร์ : รัฐบุรุษเหล็ก ออตโต ฟอน บิสมาร์ก
ตราแผ่นดินปรัสเซีย
(ภาพจาก : Wikipedia)

บิสมาร์กมีเป้าหมายอยู่ที่การรวมเยอรมันนีเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของปรัสเซีย เขาจึงทำสงครามกับออสเตรียในปี 1866 และโค่นล้มสมาพันธรัฐเยอรมันที่ออสเตรียครองความเป็นใหญ่ลง นำไปสู่การก่อตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือซึ่งมีปรัสเซียเป็นใหญ่ เมื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสในปี 1870 และได้ชัยชนะ จึงเข้าถึงรัฐเยอรมันภาคใต้ได้ และประกาศตั้งจักรวรรดิเยอรมันขึ้นได้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 1871

เมื่อเป็นผู้นำของเยอรมันหลังรวมประเทศ โดยมีพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าไกเซอร์ บิสมาร์กได้สร้างพันธมิตรขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เบอร์ลินเพื่อต่อต้านการรวมตัวของมหาอำนาจยุโรปที่ต่อต้านการรวมชาติเยอรมันนี ในปี 1878 เขาเล่นบทบาท ‘นักต่อรองที่ซื่อสัตย์’ ในการประชุมใหญ่ที่เบอร์ลินเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งของมหาอำนาจในกรณีของดินแดนบอลข่าน

ประวัติศาสตร์ : รัฐบุรุษเหล็ก ออตโต ฟอน บิสมาร์ก
ภาพการ์ตูนในปี 1890 จากนิตยาสาร Punch เป็นภาพไกเซอร์ วิลเฮล์มที่2 ปลดออตโต ฟอน บิสมาร์ก ผู้ชราออก
(ภาพจาก : artsandculture )

สำหรับการเมืองในประเทศ บิสมาร์กมักใช้วิธีเผชิญหน้า เขาออกกฏหมายสวัสดิการสังคมฉบับแรกขึ้นในยุโรปในทศวรรษที่ 1880 ตั้งธนาคารกลางและสร้างเงินตราขึ้นใช้ แต่เขารังเกียจการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ สถานภาพของเขาขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของราชบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 และโอรสคือ พระเจ้าฟรีดริกที่ 3 สิ้นพระชนม์ในปี 1888 บิสมาร์กก็ขัดแย้งกับพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 2 ซึ่งอ่อนกว่าเขาถึง 44 ปี เขาถูกปลดในปี 1890 และวางมือจากงานสาธารณะด้วยความเจ็บแค้นใจ.