Thursday, 25 April 2024

ประวัติศาสตร์ : คลีโอพัตรา ราชินีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์

คลีโอพัตรา ราชินีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ หรือ คลีโอพัตรา เธอา ฟิโลปาตอร์ : เป็นราชินีแห่งอียิปต์โบราณแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ และเป็นเชื้อพระวงศ์คนสุดท้ายของราชวงศ์ทอเลมี เป็นผู้ปกครองอียิปต์เชื้อสายกรีกคนสุดท้าย ทรงแตกฉานถึง 14 ภาษา มีพระปรีชาสามารถมาก และพระนางเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด

คลีโอพัตรา

ราชินีแห่งอียิปต์ตั้งแต่ปี 51 ก่อนคริสตศักราช จวบจนสิ้นพระชนม์ ทรงเป็นนักปกครองที่ปรีชาสามารถและหวังสูง พระนางทรงมีความสัมพันธ์อันลือลั่นกับจูเลียส ซีซาร์ และ มาร์ค แอนโทนี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวโรมันยิ่งนัก

งูพิษแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ยุคโบราณ

ประวัติศาสตร์ : คลีโอพัตรา ราชินีแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์
รูปปั้นของคลีโอพัตราปั้นขึ้นในราวๆปี 30-11 ก่อน ค.ศ. มีความผิดแผกไปจากภาพของซีซาร์กับคลีโอพัตราซึ่งสร้างจากอุดมคติในศวรรตที่ 17 (ภาพจาก : wikimedia)

ราชินีแห่งอิยิปต์เจ็ดองค์มีพระนามว่า คลีโอพัตรา ล้วนเป็นสตรีที่ปรีชาสามารถและมุ่งมั่น แต่องค์ที่มีกิตติศัพท์ขจรขจายที่สุดคือ ราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์ ผู้ซึ่งเช็คสเปียร์ขนานนามว่า “งูพิษแห่งลุ่มน้ำไนล์ยุคโบราณ”

นักประวัติศาสตร์มองคลีโอพัตราที่ 7 (69-30 ก่อนคริสตศักราช) อย่างไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางนั้นจากชาวโรมันซึ่งเป็นศัตรูของพระนาง ซิเซโร นักวาทศิลป์ชาวโรมัน กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าชิงชังคลีโอพัตราและความยโลของนาง’ พระนางแสดงองค์เป็นศัตรูต่อพวกโรมัน จนพวกโรมันใส่ร้ายป้ายสีให้เสื่อมเสีย อันที่จริง พระนางปรีชาสามารถ มีการศึกษาดีและใฝ่สูง ทรงพยายามชิงแคว้นที่อียิปต์เคยครอบครองในปาเลสไตน์และซีเรียกลับคืนมา พระนางเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่ขวนขวายเรียนภาษาอียิปต์ ทั้งๆที่รับสั่งภาษากรีกเป็นภาษาหลัก

ต้นราชสกุลของพระนางมาจากมาซิโดเนีย คือ ปโตเลมีที่ 1 ซึ่งเป็นแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อมีการแบ่งจัดสรรดินแดนในจักรวรรดิหลังจากที่อเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว ปโตเลมีได้อิยิปต์มาครอบครอง แต่เมื่อถึงรัชสมัยของคลีโอพัตรา พระราชบิดาคือ ปโตเลมีที่ 12 เป็นเพียงหุ่นกระบอกชักของโรม ในปี 51 ก่อนคริสตศักราช คลีโอพัตราได้ขึ้นครองราชย์ร่วมกับปโตเลมีที่ 13 ซึ่งเป็นทั้งพระอนุชาและพระสวามีที่พระนางอภิเษกเมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 18 ขณะที่พระอนุชามีพระชนมายุเพียงแค่ 10 ชันษา แต่พระนางทรงมีเรื่องบาดหมางกับสภาองคมนตรีของปโตเลมี จึงได้เสด็จออกจากอเล็กซานเดรียไป

พบเจอกับจูเลียส ซีซาร์

ภาพของซีซาร์กับคลีโอพัตราซึ่งสร้างจากอุดมคติในศวรรตที่ 17
ภาพของซีซาร์กับคลีโอพัตราซึ่งสร้างจากอุดมคติในศวรรตที่ 17 (ภาพจาก : wikimedia)

เมื่อจูเลียส ซีซาร์ตามล่าปอมปีย์คู่อริ มาถึงอเล็กซานเดรีย พระนางได้เสด็จกลับมา ตามคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์ พลูทาร์ก (Plutarch) พระนางลอบมาขึ้นท่าเรืออลเ็กซานเดรีย ในเรือลำเล็ก ทรงห่อพระวรกายอยู่ในพรม และถูกลักลอบพาเข้าไปในวังเพื่อเข้าพบซีซาร์ พระนางเกลี้ยกล่อมให้ซีซาร์ตั้งตนเป็นตุลาการ ต่อมาจึงสนับสนุนพระนางในกรณีพิพาทกับพระอนุชา

เมื่อพระอนุชาสิ้นพระชนม์ในสงครามที่ตามมา คลีโอพัตราก็อภิเษกกับอนุชาอีกองค์หนึ่ง คือ ปโตเลมีที่ 14 อย่างไรก็ดี ซีซาร์เป็นบิดาของโอรสของพระนางนามว่า ซีซาเรียน ซึ่งประสูติในปี 47 ก่อนคริสตศักราช เมื่อปโตเลมีที่ 14 สิ้นพระชนม์ พระนางแต่งตั้งพระโอรสขึ้นเป็น ปโตเลมีที่ 15 ให้ครองราชย์ร่วมกับพระนางคลีโอพัตราและเสด็จไปพบกับจูเลียส ซีซาร์ที่โรม และพำนักอยู่จวบจนซีซาร์ถูกลอบสังหารในปี 44 ก่อนคริสตศักราช

ก่อนการสิ้นพระชนม์ของคลีโอพัตรา

ในปี 42 ก่อนคริสตศักราช คลีโอพัตราใช้ศักดานุภาพของโรมไปยึดครองแคว้นที่อียิปต์ได้สูญเสียไป และทรงเสด็จไปยังทาร์ซัส (ปัจจุบันคือ ตุรกี) เพื่อพบกับมาร์ค แอนโทนี่ ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันร่วมกับออกเตเวียน ซึ่งขึ้นเป็นจักรพรรดิออกัสตัส

ก่อนการสิ้นพระชนม์ของคลีโอพัตรา
ความตายของคลีโอพัตรา ภาพวาดโดยจิตรกรชาวฟิลิปปินส์ Juan Luna.
(รูปภาพจาก : wikipedia)

มาร์ค แอนโทนี่ กลายเป็นชู้รักของพระนางและมีโอรสธิดาด้วยกันถึง สามพระองค์ แอนโทนีหย่าจากขนิษฐาของออกัสตัสเพื่อมาอภิเษกกับพระนาง ทำให้ออกัสตัสประกาศสงครามในปี 32 ก่อนคริสตศักราช เมื่อเกิดการพ่ายแพ้ที่อักติกุม (ปี 31 ก่อนคริสตศักราช) พระนางกับแอนโทนี่ ก็หลบหนีไปอียิปต์ ในปี 30 ก่อนคริสตศักราช ทั้งคู่ประกอบอัตวินิบาตกรรม โดยคลีโอพัตราทรงให้งูพิษกัดตัวเองจนสิ้นพระชนม์.