Friday, 26 July 2024

อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) – วิธีรักษาและการป้องกัน

28 Aug 2020
672

อาหารเป็นพิษ หรือ Food poisoning เกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในอาหาร เช่น โรตาไวรัส (Rotavirus) แบคทีเรียแคมปีโล (Campylo bacteria) และแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococus) เชื้อเหล่านี้สามารถเพิ่มจำนวนได้เป็นทวีคูณในอาหารที่ไม่สุกดี หรืออาหารที่เรานำมาอุ่นซ้ำ ทำให้อาเจียนอย่างรุนแรงภายใน 2-8 ชั่วโมงหลังจากที่กินเข้าไป

อาการอาหารเป็นพิษ

แบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella bacteria) ติดต่อได้จากแมลงวัน ภาชนะปรุงอาหารที่สกปรก หรือจากอาหารเองโดยตรง เช่น ไก่หรือนม ทำให้ท้องร่วงอย่างรุนแรงภายใน 12-36 ชั่วโมง

อาการอื่นๆที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ คือ ปวดเกร็งในท้อง ปวดเสียดอย่างรุนแรง เหงื่อออก เพลีย เสียน้ำ และอาจมีเลือดปนออกมากับอาการอาเจียนหรืออุจจาระ

อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) - วิธีรักษาและการป้องกัน

ผู้ที่สงสัยว่าอาหารเป็นพิษไม่ควรกินอะไรนอกจากจิบน้ำ จนเมื่อรู้สึกว่าท้องเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงค่อยกินอาหารเบาๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด หรือซุปใส หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ระคายเคือง เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด ซึ่งอาจทำให้อาการปวดกลับมาได้ ยาบางยี่ห้ออาจช่วยควบคุมอาการท้องเสียได้ แต่ก็ควรขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงจะดีกว่า

ควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่..

โดยทั่วไป อาการอาหารเป็นพิษจะหายไปภายใน 1-2 วัน แต่ต้องไปพบแพทย์ทันทีในกรณีดังนี้

#มีอาการรุนแรง และเป็นมานานเกิน 3 วัน ถ้าหากเป็นทารกหรือเด็กเล็กที่มีอาการนานเกิน 6 ชั่วโมง ควรให้รีบพบแพทย์ทันที

#กรณีมีเลือดออกมาในอุจจาระ

#มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น เห็นภาพซ้อน

การป้องกันตนเองจากอาหารเป็นพิษ

เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ ควรล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบจับอาหาร ให้ทิ้งอาหารที่ต้องสงสัยว่ามีเชื้อโรค เช่น เนื้อหรือปลาแปรรูป และอาหารประเภทนม คัสตาร์ด ครีม มายองเนส รวมทั้งอาหารหรือขนมที่มีกะทิเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นแกงกะทิ หลน ตะโก้ มัน หรือเผือกแกงบวด ซึ่งทิ้งไว้เป็นเป็นเวลานานในอุณหภูมิห้อง

อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) - วิธีรักษาและการป้องกัน

ถ้าปรุงอาหารแช่แข็ง ต้องละลายน้ำแข็งให้หมด เพื่อที่เวลาปรุง อาหารจะได้สุกถึงด้านใน และเมื่อละลายน้ำแข็งออกแล้ว ห้ามนำกลับไปแช่แข็งอีก

อย่ากินอาหารที่สงสัยว่าจะปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ) และให้หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่บุบ บวม หรือแตก เพราะมักจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน

อาหารเป็นพิษชนิดรุนแรง

อาการอาหารเป็นพิษอย่างหนึ่งที่พบไม่บ่อยนัก แต่ร้ายแรงมาก คือ โบตูลิสซึม (Botulism) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภายใน 24 ชั่วโมง โรคนี้เกิดจากการบรรจุอาหารลงประป๋องไม่ถูกวิธี มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ชื่อว่า คลอสทริเดียม (Clostridium botulinum) ซึ่งเจริญเติบโตโดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจน นอกจากนี้ยังทนต่อความร้อนและการต้มจนเดือด ดังนั้นจึงไม่ควรทำอาหารบรรจุกระป๋องเองที่บ้าน

อาการในระยะเริ่มแรก คือ มองเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก และอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด อาจมีอาการท้องเสียและอาเจียน ถ้าสงสัยว่ากำลังมีอาการของโบตูลิสซึม (Botulism) ให้รีบไปพบแพทย์ทันที.