ประชาธิปไตย (democracy) เกิดขึ้นในนครรัฐหรือโพลิส (Polis) ของเอเธนส์ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในการลงมติในการประชุมสภา ในประชาธิปไตยในปัจจุบัน ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปลงมติแทนตนเอง
การเติบโตของประชาธิปไตย
ตราบจนมาถึงปลายศตวรรษที่ 18 คนทั่วไปก็ยังคิดกันว่าประชาธิปไตยนั้นใช้ได้แต่ในนครรัฐที่เล็กๆเท่านั้น ในอาณานิคมของอเมริกัน นับจากการปฏิวัติขับไล่อังกฤษจากปี 1775 มา นักคิดทางการเมืองเช่น เจมส์ เมดิสัน เริ่มพัฒนาความคิดในการมีผู้แทนเพื่อนำประชาธิปไตยไปใช้ได้กับรัฐใหญ่ๆในโลกปัจจุบัน พรรคการเมืองเสริมให้การใช้ผู้แทนแข็งแกร่งขึ้น ประชาธิปไตยเกือบทุกรูปแบบปัจจุบันนี้ล้วนแต่เป็นแบบมีพรรคการเมือง
ในฝรั่งเศส การปฏิวัติที่ปะทุขึ้นในปี 1789 ก่อให้เกิดทฤษฏีทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ซึ่งปรากฏออกมาเป็นแถลงการณ์ สิทธิของบุคคลและพลเมืองที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1789 แถลงการณ์นี้ระบุว่า “อำนาจทั้งหมดทางการเมืองไม่ได้มาจากพระเจ้าหรือกษัตริย์ แต่มาจากประชาชน“
ปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยกลายเป็นรากฐานอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียวที่ยั่งยืนและถูกต้องตามกฏหมาย แม้แต่การปกครองแบบเผด็จการอย่างเช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองยุโรปกลางและตะวันออกอยู่จนถึงปี 1989 ก็ยังเรียกตัวเองว่าเป็น “ประชาธิปไตยประชาชน“
ถึงแม้ว่าชาวเอเธนส์จะเป็นผู้คิดค้นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่พวกเขาก็กำจัดขอบเขตสำหรับทาสและสตรี เมื่อชาวอเมริกันนำการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในศตวรรษที่ 18 พวกเขาก็จำกัดขอบเขตของสตรีและทาสไว้เหมือนกัน ส่วนชาวฝรั่งเศสก็จำกัดสิทธิการออกเสียงไว้เฉพาะแค่ผู้ชาย จนกระทั่งปี 1893 จึงได้มีรัฐนิวซีแลนด์ ที่ยินดีให้สิทธิในการออกเสียงแก่สตรี ในสหรัฐอเมริกา สตรีได้รับสิทธิการออกเสียงในปี 1919 ในขณะที่ผู้หญิงอังกฤษที่มีอายุเกิน 21 ปี ได้รับสิทธินี้ในปี 1928 ผู้หญิงในฝรั่งเศสไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจนกระทั่งในปี 1945 ส่วนสตรีในสวิตเซอร์แลนด์ต้องรอจนถึงปี 1971 จึงจะได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง
ทำอย่างไรถึงจะเป็นประชาธิปไตย
ไม่ใช่ว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะไม่มีปัญหา ประชาธิปไตยใช้ได้ผลดีที่สุดในสังคมที่มีเอกลักษณ์ ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษา ในสังคมที่แบ่งแยกนั้น เสถียรภาพจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการแบ่งปันอำนาจกันเหมือนดังในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อที่ว่าทั้งชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ ประชาธิปไตยยังทำให้ประชาชนเลือกตั้งพรรคที่ก่อตั้งลัทธิเผด็จการขึ้นเป็นรัฐบาลได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นในเยอรมันในปี 1933 เมื่อพรรคนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับการเลือกตั้งให้ขึ้นครองอำนาจ รัฐบาลของฮิตเลอร์นับเป็นตัวอย่างสุดยอดของสิ่งที่บางครั้งเราเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ
ในการต่อสู้กับประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ ประเทศส่วนมากจะใช้การตรวจสอบและถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถทำลายสิทธิของชนกลุ่มน้อยได้ ซึ่งอาจรวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์ชนกลุ่มน้อย สภาสงเพื่อคานอำนาจล้นพ้นของสภาล่าง ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และระบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐเพื่อการกระจายอำนาจทางการเมืองออกจากส่วนกลาง
นักเขียนนวนิยาย อี เอ็ม ฟอร์สเตอร์ กล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยสมควรได้รับการสดุดีเพียงแค่สองครั้ง ส่วนครั้งที่สามน่าจะเก็บไว้ให้ประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองซึ่งรวมเอาการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเข้ากับการเคารพกฏหมายและสิทธิของชนกลุ่มน้อย.