Sunday, 24 November 2024

มหาตมะ คานธี : พลังใจแห่งการต่อสู้ของชาวอินเดีย

โมฮันดาส การัมจันท์ คานธี Mahatma Gandhi (ปี 1869-1948) เป็นทั้งครูและนักปฏิรูป ซึ่งเรารู้จักกันในนามว่า ‘มหาตมะ’ หรือจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ คานธีเกิดในโปรพันทาระทางตะวันตกของอินเดีย ปี 1888 เขาไปศึกษาวิชากฎหมายที่ลอนดอนและเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศาสนา เขาสนใจคัมภีร์ภควัตคีตาของศาสนาฮินดูซึ่งเป็นแรงใจสำหรับตัวเขาตลอดชีวิต

มหาตมะ คานธี

เป็นศูนย์รวมพลังใจแห่งอินเดีย เป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้ของอินเดีย เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เขาอุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อให้เกิดสันติภาพ การปฏิรูปและการปกครองตนเองในบ้านเมือง

ต่อมาคานธีย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยประกอบอาชีพทนายความ เขาเรียกร้องให้มหาชนต่อสู้กับกฏหมายที่แบ่งแยกกีดกันชุมชนชาวเอเชีย จนรัฐบาลต้องยอมโอนอ่อนให้สิทธิบางประการมาบ้าง

โมฮันดาส การัมจันท์ คานธี Mahatma Gandhi
มหาตมะ คานธี สมัยเป็นนักเรียนกฏหมายอยู่ที่ลอนดอน
(ภาพจาก : wikipedia)

คานธีกลับอินเดียในปี 1915 หลังจากเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ เรียกร้องให้อินเดียปกครองตนเอง เขาดำเนินชีวิตอย่างสมถะและแต่งกายง่ายๆ คานธีเห็นว่าการประพฤติและปฏิรูปสังคมนั้นสำคัญพอๆกับเรื่องการเมือง เขาต่อสู้เพื่อล้มล้างระบบจัณฑาล ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ในอินเดีย เขาต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และเชื่อว่าชาวฮินดูและชาวมุสลิมจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

เริ่มต้นขบวนการดื้อแพ่ง

ในปี 1920 คานธีโน้มน้าวพรรคคองเกรสแห่งอินเดียซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องอิสรภาพ ให้เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ ขบวนการนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบรับอย่างใหญ่หลวง คานธีชักชวนให้รวมหัวกันต่อต้านผ้าอังกฤษที่ทำจากฝ้ายราคาถูกของอินเดียและใช้วงล้อปั่นด้ายเป็นสัญลักษณ์แทนการพึ่งพาตนเอง จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาถูกจับและจำคุก 6 ปี

คานธีกับดร.แอนนี่เบซานต์ ระหว่างทางไปประชุมที่เมืองมัทราสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2464
คานธีได้นำผ้าเตี่ยวมาใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงตัวตนกับคนยากจนของอินเดีย
(ภาพจาก : Wikipedia)

ในปี 1930 คานธีเริ่มขบวนการดื้อแพ่งครั้งที่ 2 เขานำการเดินขบวนผ่านอินเดียตะวันตกไปที่ชายฝั่งเพื่อผลิตเกลือด้วยมือตนเองเป็นการประท้วงที่รัฐผูกขาดการผลิตเกลือ จึงทำให้เขาถูกจับกุมอีกครั้ง ปี 1931 เขาเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมที่กรุงลอนดอน เรื่อง อนาคตของอินเดีย แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คานธีจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหว ‘จงไปจากอินเดีย’ (Quit India) อังกฤษโต้ตอบด้วยการจับตัวผู้นำของพรรคคองเกรสไป แต่กลับกลายเป็นการยั่วยุให้เกิดการต่อสู้ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียอำนาจในดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศไป

โมฮันดาส การัมจันท์ คานธี Mahatma Gandhi
โมฮันดาส การัมจันท์ คานธี Mahatma Gandhi

หลังปี 1944 คานธีปล่อยให้คองเกรสเป็นผู้เจรจาต่อรองกับอังกฤษ ส่วนเขาหันมาทุ่มเทให้กับการสร้างความสงบสุขให้กับดินแดนต่างๆที่มีการจลาจลต่อสู้ระหว่างพวกฮินดูกับมุสลิม เขาต่อต้านการแบ่งแยกทางการเมือง ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม ซึ่งการแบ่งแยกนี้นำไปสู่การก่อตั้งประเทศปากีสถาน ในวันประกาศเอกราช วันที่ 15 สิงหาคม 1947 คานธีอดอาหารและสวดอธิษฐานขอสันติภาพ ผลจากการแบ่งแยกชาวฮินดูและชาวมุสลิมนี้ทำให้ต้องอพยพคนจำนวนมาก มีคนล้มตายถึงหลายแสนคนในปีนี้

อนุสรณ์สถานที่คานธีถูกลอบสังหารในปี 2491
อนุสรณ์สถานที่คานธีถูกลอบสังหารในปี 2491
(ภาพจาก : wikipedia)

ในวันที่ 30 มกราคม 1948 คานธีถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงยิงเสียชีวิตในเมืองเดลี ขณะชุมนุมสวดมนต์ยามเย็นที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตร ชาวฮินดูคนนั้นไม่ต้องการให้ชาวมุสลิมและฮินดูสมานฉันท์กัน เขาจึงยิงปืนใส่คานธีถึง 3 นัด จนคานธีล้มลง ไม่ทันได้ถึงมือแพทย์ คานธีได้เสียชีวิตลงไปก่อน ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุ 78 ปี.