Tuesday, 17 September 2024

เคล็ดลับและการเตรียมตัวในการเลี้ยงผึ้ง : งานอดิเรกที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

วันนี้แอดขอมาในสายสัตว์เลี้ยงทางการเกษตรนิดนึง จะมานำเสนอเคล็ดลับและการเตรียมตัวในการเลี้ยงผึ้ง เผื่อจะมีใครสนใจทำเป็นงานอดิเรก หรือ หารายได้เสริมเล็กๆน้อยๆ เราไปดูข้อมูลเบื้อต้นกันเลยย !

การเลี้ยงผึ้ง

ผึ้งจะผลิตน้ำหวานและสะสมไว้ในรังเพื่อเป็นอาหารให้แก่ลูกรัง ในช่วงที่ขาดแคลนอาหารหรือ เมื่อหมดฤดูของดอกไม้บาน ดังนั้นเป้าหมายของผู้เลี้ยงผึ้ง คือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ผึ้งผลิตน้ำหวานให้ได้มากที่สุด หรือเกินความต้องการของพวกผึ้งเอง เพื่อให้เราสามารถนำน้ำผึ้งส่วนที่เหลือมาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากผู้เลี้ยงควรสร้างรังที่ดีให้แก่ผึ้ง และต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

เพื่อให้แน่ใจว่าผึ้งในรังมีอาหารเพียงพอในช่วงที่อาหารขาดแคลนหรือผู้เลี้ยงให้น้ำตาลในปริมาณมากเท่ากับน้ำผึ้งที่ได้เพื่อให้ผึ้งใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบก็ได้

รังผึ้ง
ภาพโดย Pexels จาก Pixabay

ก่อนเริ่มต้นเลี้ยงผึ้ง เราอาจสมัครเข้าอบรมกับศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ผึ้งก่อนได้ ซึ่งมีอยู่ 5 แห่งทั่วประเทศ คือที่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น จันทบุรี และชุมพร (หลายจังหวัดในประเทศไทยเช่นกรุงเทพมหานครไม่เหมาะที่จะเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตเป็นน้ำผึ้ง) ทางศูนย์จะให้คำแนะนำตลอดจนข้อมูลต่างๆที่จำเป็นสำหรับการทำกิจการเลี้ยงผึ้ง

วิธีนี้จะทำให้รู้ว่าคุณชอบผึ้งหรือไม่ ถ้าไม่ชอบ โอกาสที่ผึ้งจะไม่ชอบคุณก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเช่นกัน ซึ่งยังถอนตัวได้ทันถ้าต้องการ และอาจหางานอดิเรกอื่นทำแทนก็ได้แต่ถ้ามีแววว่าคุณและผึ้งไปด้วยกันได้ ก็ควรเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับการจัดสถานที่ การแยกรัง การเก็บน้ำผึ้งจากรัง และเรื่องอื่นๆที่จำเป็น

การเลือกซื้อผึ้ง

การเลือกซื้อผึ้งให้เลือกซื้อไข่เพื่อนำมาเพาะพันธ์นางพญาประจำรัง ผึ้งที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยเป็นผึ้งสายพันธุ์อิตาเลียน เนื่องจากจัดรังและการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ผึ้งหลวง ไม่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเก็บน้ำหวาน เพราะมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการย้ายรังทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การเตรียมหีบเลี้ยงผึ้ง (Hive)

หีบเลี้ยงผึ้ง

หีบเลี้ยงผึ้งเป็นหีบไม้สี่เหลี่ยมวางซ้อนๆกัน ด้านบนและด้านล่างสามารถเปิดออกได้ภายในหีบมีคอนหรือเฟรม (Frame) สำหรับใช้เป็นที่สำหรับให้ผึ้งสร้างรวง หีบด้านบนใช้สำหรับเก็บน้ำหวาน ส่วนที่อยู่ด้านล่างๆลงไปใช้สำหรับเป็นที่วางไข่ของแม่รังและเลี้ยงลูกอ่อน ควรเริ่มต้นเลี้ยงทีละหีบก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นในปีถัดไปสำหรับให้ผึ้งสร้างรังใหม่เพื่อแยกรัง หีบเลี้ยงผึ้งมี 2 แบบคือ แบบยุโรป กับ แบบไต้หวัน ซึ่งแตกต่างกันที่ขนาดความยาวให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม

การเตรียมชุดป้องกันผึ้งเพื่อเก็บเกี่ยวน้ำผึ้ง

เสื้อผ้าชุดป้องกันผึ้ง (Protective Clothing)

เสื้อผ้าชุดป้องกันผึ้ง ชิ้นที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ได้แก่ หมวกตาข่ายสำหรับป้องกันผึ้งต่อยหน้า ทำจากตาข่ายหรือพลาสติกติดเข้ากับหมวกปีกกว้าง เพื่อป้องกันใบหน้าและลำคอ หมวกตาข่ายนี้ต้องยาวคลุมไหล่เป็นอย่างน้อยเพื่อไม่ให้ผึ้งเล็ดลอดเข้าไปภายในได้

ชุดเสื้อผ้าที่สวมใส่เวลาทำงานควรเป็นชุดหมีแขนยาวรัดข้อมือและข้อเท้า ที่ทำด้วยผ้าหนาๆและให้สวมรองเท้าหุ้มข้อ หรือ รองเท้าบู๊ตจะได้รัดปลายขากางเกงเข้ากับรองเท้าได้อย่างมิดชิด

ถุงมือ (Bee Gloves)

ถุงมือควรทำด้วยหนังหรือผ้าที่เหนียวและหนาพอสมควร ช่วยป้องกันไม่ให้ถูกผึ้งต่อย แต่อย่าใช้ถุงมือที่หนาเกินไป เพราะอาจทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความละเอียด อย่างไรก็ตามอาจทำงานด้วยมือเปล่าก็ได้ แต่ต้องจับผึ้งอย่างเบามือเพื่อให้ถูกผึ้งต่อยน้อยที่สุด

เครื่องพ่นควัน (Smoker)

เครื่องพ่นควัน

เครื่องพ่นควันสยบผึ้ง นักเลี้ยงผึ้งทุกคนจำเป็นต้องมีและนำไปใช้ทุกครั้งเวลาทำงานอยู่กับผึ้ง เครื่องพ่นควันนี้ ประกอบด้วยกระป๋องสังกะสี อะลูมิเนียม หรือสเตนเลส ที่มีฝาครอบรูปกรวยสำหรับพ่นควันออก ด้านหลังเจาะรูให้ลมเข้า และมีที่ปั๊มลม ประกอบด้วยไม้ 2 แผ่นบางๆที่ปั๊มลมด้วยผ้าหนังมีช่องลมตรงกับรูของกระป๋อง เวลาบีบลมออกจากกระเปาะ ลมจะพุ่งตรงเข้าไปในกระป๋อง ทำให้เชื้อไฟในกระป๋องติดไฟ เกิดเป็นควันพุ่งออกจากกรวย เลือกใช้ชนิดที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ใช้ได้นานๆ

เหล็กงัดรังผึ้ง (Hive tool)

เหล็กงัดรังผึ้ง

เหล็กงัดลังผึ้ง เป็นแผ่นเหล็กแบนยาวประมาณ 6 ถึง 8 นิ้ว ปลายด้านหนึ่งใช้ขูดยางเหนียวที่ติดตามขอบรัง และคอนอีกด้านหนึ่งแบนกว้างใช้สำหรับแซะฝารังเวลาเปิดรังผึ้ง

การให้อาหารผึ้ง

การให้อาหาร ในช่วงที่แหล่งอาหารตามธรรมชาติของผึ้ง ซึ่งได้แก่ น้ำหวานจากดอกไม้เริ่มขาดแคลน จำเป็นจะต้องใช้น้ำเชื่อมกับผึ้งแทนเพื่อให้ผึ้งยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ การให้น้ำเชื่อมกับผึ้งมีหลายวิธี อาจทำที่จ่ายน้ำเชื่อมเองได้ง่ายๆ โดยเจาะรูบนฝากระป๋องให้น้ำเชื่อมค่อยๆไหลออกมา

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกผึ้งต่อย

เมื่อถูกผึ้งต่อยควรมียาแก้แพ้ หรือ ขี้ผึ้งแก้แพ้ ติดบ้านไว้เสมอ เพราะว่าไม่ช้าก็เร็วคุณจะต้องถูกผึ้งต่อยอย่างแน่นอน บางคนอาจมีอาการแพ้ผึ้งต่อยอย่างรุนแรง อาจรู้สึกวิงเวียนศรีษะ และ บางคนมีอาการเข้าขั้นโคม่าได้ ถ้าคุณแพ้ผึ้งต่อยอย่างรุนแรงให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักมีแค่อาการเจ็บปวดและบวมบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยเท่านั้น นักเลี้ยงผึ้งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับผึ้งต่อยในไม่ช้า

การเลี้ยงผึ้ง

วิธีถอดเหล็กในออกจากผิวหนังทำได้โดยใช้ปลายเล็บกดผิวหนังให้เหล็กในโผล่ขึ้นมา แล้วดึงออกเบาๆ อย่าพยายามคีบเหล็กในที่ฝังอยู่ออกเพราะจะทำให้เหล็กในแตกและน้ำพิษภายในจะไหลเข้าสู่แผลมากขึ้น

การปฐมพยาบาลอาการปวดหลังถูกผึ้งต่อยโดยใช้ขี้ผึ้งแก้แพ้ หรือ ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสะอาดหนึ่งแก้ววิสกี้ ทาบริเวณที่เป็นแผล

เป็นยังไงกันบ้าง? ใครมีเทคนิคเพิ่มเติมมาแชร์กันได้นะ ขอบคุณที่รับชมน๊า 🙂