Thursday, 21 November 2024

หนอนผีเสื้อ – การป้องกันพืชจากหนอน ตัวบุ้ง ตัวร่าน

หนอนผีเสื้ออาจเป็นตัวอันตรายต่อพืชได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ผล ดอกไม้ และพืชผัก โดยการทำลายมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น บางครั้งเราอาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ หนอนผีเสื้อ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น ตัวบุ้ง ตัวแก้ว ตัวร่าน ตัวเขียวหวาน และหนอนแก้ว หนอนผีเสื้อกลางคืนบางชนิดมีขนที่มีพิษรุนแรง หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นคันหรือเกิดการอักเสบได้

หนอนผีเสื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น!

หนอนผีเสื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น!
ภาพโดย dendoktoor จาก Pixabay

ตัวหนอนผีเสื้อที่สร้างความเสียหายให้แก่พืชไร่มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนบังใบชอบกินใบชมพู่เป็นอาหาร หนอนผีเสื้อชอนใบชอบกินใบละมุด หนอนผีเสื้อหนอนกอชอบเจาะต้นข้าวโพด หนอนผีเสื้อหนอนมะนาวชอบกินใบส้มชนิดต่างๆ หนอนผีเสื้อหนอนคืบชอบกัดกินใบเงาะ หนอนผีเสื้อหลายชนิดทั้งหนอนผีเสื้อกลางวันและหนอนผีเสื้อกลางคืนจะชอบเจาะฝักถั่วลันเตา นอกจากนี้ยังมีหนอนผีเสื้อสีขาวกะหล่ำปลี ที่ชอบกัดกินใบพืชตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าหนอนผีเสื้อทุกชนิดจะเป็นอันตรายต่อพืชเสมอไป หนอนผีเสื้อบางอย่าง เช่น หนอนผีเสื้อดักแด้หัวลิง (Spalgis epeus) จะกินพวกเพลี้ยเกล็ด หนอนผีเสื้อกินเพลี้ย (Miletus chinensis) กินเพลี้ยอ่อนและหนอนของผีเสื้อมอท (Liphyra brassolis) อาศัยอยู่ในรังของมดแดง และกินตัวอ่อนของมดแดง

การกำจัดหนอนผีเสื้อ

ภาพโดย Josch13 จาก Pixabay

การกำจัดทำได้โดยใช้ยาฆ่าแมลง ใช้ได้ทั้งแบบฉีดพ่นโดยตรงหรือประเภทดูดซึม ซึ่งพืชดูดเข้าไปและเป็นพิษต่อแมลงเมื่อกิน สำหรับยาฆ่าแมลงแบบผง ใช้สำหรับพ่นบนดินหรือบนใบพืชซึ่งเป็นที่อยู่ของตัวหนอน

ถ้าพืชถูกหนอนผีเสื้อเข้าทำลาย ให้ฉีดยาฆ่าแมลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะพวกพืชที่หนอนจะไชเข้าไปในผล ก่อนเลือกใช้ยาฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรตรวจสอบเสียก่อนว่าเหมาะกับชนิดของพืช โดยเฉพาะกับผลไม้และผักที่ใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยว ควรเลือกใช้โล่ติ๊น (Derris) และไตรคลอฟอน (Trichlorphon) สำหรับพืชที่ใช้รับประทานเพราะสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 2-3 วัน หลังจากฉีดยาครั้งสุดท้าย

ภาพโดย Alexas_Fotos จาก Pixabay

นอกจากใช้ยาฆ่าแมลงแล้ว การเก็บไข่หรือตัวหนอนที่เห็นอยู่ตามต้นไม้โดยสม่ำเสมอก็สามารถช่วยได้มาก.

Exit mobile version