ต้นโมก เป็นชื่อไทยที่ใช้เรียกพืชหลายสกุล เช่น โมกใหญ่หรือโมกหลวง (Holarrhena pubescens) และ สกุลของโมกบ้าน (Wrightia religiosa) โมกมัน (W.arborea) ทั้งสองสกุลอยู่ในวงศ์ Apocynaceae โดยสกุล Wrightia นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับมากกว่า มีหลายชนิดและหลายสายพันธุ์ เช่น โมกบ้าน (W. religiosa) มีทั้ง โมกพวง โมกซ้อน โมกลา โมกด่าง
โมกต่างสายพันธุ์ต่างความโดดเด่น
โมกแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันออกไป คือ โมกบ้านจัดทรงพุ่มได้สวย มีดอกสีขาวเป็นพวง โมกซ้อนจะมีดอกซ้อนกันหลายๆกลีบ โมกลามีดอกเดี่ยวคล้ายกับดอกมะลิลาใบค่อนข้างใหญ่มีสีเขียวสด จัดทรงพุ่มได้สวย ส่วนโมกด่าง ใบเรียวแหลมเล็ก ทรงพุ่มค่อนข้างใหญ่ แต่เนื่องจากโมกบ้านเป็นไม้พุ่มจึงมีการเสียบกิ่งกับโมกมันซึ้งเป็นไม้ลำต้นสูง เพื่อให้มีลักษณะเป็นไม้ต้นใหญ่ เป็นที่นิยมกันมาก และนำไปใช้งานได้หลากหลายมากเช่นกัน
โมกเป็นไม้อายุยืน
ต้นโมกที่ปลูกโดยการเพาะเมล็ด จะมีอายุยืนมาก แต่ถ้าเกิดจากการตอนกิ่ง จะมีอายุไม่ถึง 10 ปี
โมก เลี้ยงง่ายและโตเร็ว
เสน่ห์ของโมกนอกจากความมีกลิ่นหอมแล้ว โมกยังเป็นพืชที่เลี้ยงได้ง่าย ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ถ้าปลูกริมน้ำต้นก็ขึ้นได้ดี ทนสภาพอากาศที่แห้งแล้วได้ดี จึงไม่จำเป็นจะต้องดูแลมากนัก แต่ถ้าลมหนาวพัดมา อาจมีเรื่องที่ทำให้เจ้าของตกใจเล็กน้อยคือ ไม้โมกจะทิ้งใบและมีใบเหลืองเป็นจุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป โมกจะกลับมาสวยงามเหมือนเดิม
ต้นโมกเป็นพุ่มทรงเจดีย์
ถ้าต้องการให้ต้นโมกมีพุ่มที่สวยงาม ควรใช้กรรไกรตัดเล็มพุ่มให้เป็นทรงเจดีย์หรือทรงกระโจม ในจำนวนโมกพันธุ์ต่างๆ โมกลาและโมกพวงสามารถจัดแต่งพุ่มทรงได้สวยงามกว่าชนิดอื่นๆ
โมกไม่ชอบสารเคมี
แม้ว่าต้นโมกจะเป็นไม้เลี้ยงง่าย โตไว แต่ผู้เลี้ยงก็ควรรู้ใจเขาสักเล็กน้อย เพราะโมกไม่ชอบปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะตอนนำกล้าไม้ลงหลุม ควรโรยปุ๋ยคอกที่โคนต้น และในครั้งแรกไม่ควรใส่ปุ๋ยหนาเกินไป หากใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ต้นโมกอาจเกิดอาการสำลักปุ๋ย จะเหี่ยวและเฉาตายไป ปุ๋ยคอกจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับต้นโมก โดยเฉพาะปุ๋ยแกลบเผาผสมมูลสัตว์ (ขี้ไก่) ความจริงแล้วโดยทั่วไปการใช้ปุ๋ยคอกจะทำให้ไม้แตกรากฝอยได้ดีและทำให้ดินร่วนขึ้น หน้าดินไม่แข็ง ถ้าหาปุ๋ยคอกได้ยาก จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี อาจใช้ได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่ควรใช้เป็นประจำ เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีมักจะทำให้ดินแข็งเมื่อเวลารดน้ำ
โมกสายพันธุ์ต่างประเทศ
มีโมกชนิดหนึ่งซึ่งเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีชื่อว่า พุดพิชญา (Wrightia antidy senterica) มาจากประเทศศรีลังกา เป็นไม้ดอกสีขาวออกดอกตลอดทั้งปี นำมาเสียบกิ่งกับโมกมัน เช่นเดียวกับโมกแดง (Wrightia dubia) ซึ่งมีดอกสีแดง นิยมปลูกไว้ประดับสวน
โมกสายพันธุ์ใหม่ของโลก
เมื่อไม่นานมานี้มีต้นไม้ใหม่ของโลกที่เพิ่งสำรวจพบในประเทศไทยที่พระพุทธบาท สระบุรี เมื่อ พ.ศ.2544 และได้รับการตั้งชื่อว่า โมกราชินี (Wrightia sirikiae) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.