Wednesday, 4 December 2024

ประวัติศาสตร์ : อุบัติเหตุ 5 ครั้งที่เปลี่ยนแปลงโลกไปจากเดิม

ใช่ว่า อุบัติเหตุจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาไปเสียทั้งหมด อุบัติเหตุบางครั้งแปรเปลี่ยนวิถีของประวัติศาสตร์ หรือเตือนให้เรารู้ถึงภัยร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น อุบัติเหตุบางครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าหรือการค้นพบครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน.

ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

อุบัติเหตุเรื่องที่ 1 : การหลงเชื่อแบบผิดๆ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1492 นักเดินเรือชาวเจนัว ชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้ออกเดินทางจากประเทศสเปน ด้วยเรืออัญเชิญธงซานตามาเรีย เขาได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์จากพระราชินีอิซาเบลลา และวางแผนที่จะเดินทางไปให้ถึงโลกตะวันออกโดยข้ามมหสมุทรไปทางแอตแลนติกไปทางตะวันตก เพื่อค้าขายผ้าไหมและเครื่องเทศ ซึ่งมันจะทำกำไรให้กับเขาอย่างมหาศาล

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ไปไม่ถึงอินเดีย
(รูปภาพจาก worldtraveltrips)

ในการเดินทางครั้งนี้ เขาคาดคะเนว่า หมู่เกาะอินเดียน่าจะอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 4,000 ไมล์ ในปลายปีนั้น เขาขึ้นฝั่งเป็นครั้งแรกที่เกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะบาฮามาส (ซึ่งเขาทึกทักไปเองว่าเป็นหมู่เกาะอินเดีย) แล้วเขาก็เดินทางต่อไปขึ้นเกาะคิวบา (ซึ่งเขาคิดเองอีกว่าเป็นบริเวณนอกชายฝั่งทะเลของประเทศญี่ปุ่นหรือจีน) แล้วในที่สุดจึงไปถึงเกาะควิสเกยา ซึ่งเขาตั้งชื่อใหม่ว่า ฮิสแปนิโอลา

ไม่นาน โคลัมบัส ได้เดินทางกลับสเปนในฐานะ “อุปราชและข้าหลวงผู้ค้นพบหมู่เกาะอินเดีย” ต่อมาเขาก็ยังได้เดินทางต่อไป โดยไปทางตะวันตกอีกครั้ง เขาเสียชีวิตในปี 1506 โดยไม่รู้ว่าตัวเองได้บังเอิญค้นพบ “โลกใหม่” เข้าแล้วอีกครั้ง !

อุบัติเหตุเรื่องที่ 2 : กรีดท่อ

“ข้าพเจ้าได้ค้นพบสิ่งสำคัญยิ่งเข้าโดยบังเอิญ… วันนี้ข้าพเจ้าส่งคลื่นสัญญาณได้สำเร็จโดยไม่ต้องอาศัยแบตเตอรี่เลย!” เราเข้าใจได้ถึงความตื่นเต้นดีใจของ อเล็กซานเดอร์ เบลล์ ที่เขียนถึงผู้ร่วมงาน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1875 เบลล์เป็นนักวิทยาศาสตร์หนุ่มชาวสก็อตและเป็นอาจารย์สอนวิชาสรีรวิทยาในการเปล่งเสียง เขาพำนักอยู่ในบอสตัน สหรัฐอเมริกา

หลายปีก่อนหน้านี้ เขาทดลองใช้ไฟฟ้าเป็นตัวส่งสัญญาณเสียง บัดนี้เขาทำได้สำเร็จแล้ว โดยมีผู้ช่วยชื่อ ธอมัส วัตสัน ช่วยเวลาสำคัญเกิดขึ้นในบ่ายที่ร้อนระอุ เมื่อเบลล์เผอิญแนบหูเข้ากับท่อเหล็ก ที่มีฤทธิ์เป็นแม่เหล็ก ในขณะเดียวกันวัตสันซึ่งอยู่ในห้องถัดไปเกิดไปกรีดท่อเชื่อมเข้าพอดี ท่อเหล็กนี้เป็นเครื่องรับที่เขาพยายามสร้างขึ้นเอง เบลล์ตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จำได้ว่าโน้ตเสียงตัวนั้นดังมาจากท่อเหล็กของวัตสัน

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ วางเครือข่ายโทรศัพท์ระหว่างนิวยอร์กกับชิคาโก ในปี 1892
(ภาพจาก takieng)

ในอีก 8 เดือนต่อมา เบลล์ก็ได้เอ่ยถ้อยคำแรกลงไปในเครื่องมือใหม่เอี่ยมของเขา โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงๆ และก่อให้เกิดการปฏิวัติการสื่อสารระหว่างบุคคลขึ้น ในปี 1877 เบลล์ได้ก่อตั้ง บริษัท เบลล์ เทเลโฟน ขึ้นได้ในอเมริกา จากนั้น อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น.

อุบัติเหตุเรื่องที่ 3 : เลี้ยวผิด

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 อาร์ชดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ออสเตรีย เสด็จไปยังซาราเยโวเพื่อตรวจพลสวนสนามในกองทัพบอสเนีย ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในรถเปิดประทุนพร้อมกับพระชายา ก็ได้มีผู้ปาระเบิดเข้าไปจนทำให้ราชองครักษ์หลายคนได้รับบาดเจ็บ

ปรินซิป ผู้ก่อการร้ายชาวเซอร์เบีย ถูกจับกุมหลังยิงอาร์ชดยุค เฟอร์ดินานด์ในซาราเยโว
(ภาพจาก irishtimes)

สารถีที่ขับรถพระที่นั่งของอาร์ชดยุคตื่นตระหนกจนเลี้ยวรถผิดเส้นทาง และหยุดชะงักเพื่อที่จะกลับรถ กาวริสโล ปรินซิป ผู้วางแผนก่อการร้ายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นพอดี รีบฉวยโอกาสปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์ด้วยกระสุนเพียง 2 นัด นับเป็นกระสุนที่จุดปะทุให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องตามมา จนลุกลามไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1.

อุบัติเหตุเรื่องที่ 4 : จากหน้าต่างที่เปิดอ้า

บนชั้นสองของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอนดอน ในเดือนกันยายน 1928 อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง กำลังอยู่ในห้องทดลองที่เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ขณะที่เขากำลังจะทิ้งจานเพาะแบคทีเรียที่เตรียมไว้ เขาเห็นว่าแบคทีเรียที่อยู่ในจานกำลังเริ่มสลายตัว สาเหคุมาจากเชื้อราประหลาดสีเขียวที่เริ่มแผ่ออกบนจานเป็นเชื้อราที่เข้ามาจากหน้าต่าง

อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง,แบคทีเรีย,เชื้อรา,เพนิซิลเลียม โนทาทัม,Penicillium Notatum,เพนิซิลลิน,ยาปฏิชีวนะ
บันทึกและภาพวาด(ที่น่าจะมีการแก้ไขให้ชัดขึ้น)ของเฟลมิง แสดงให้เห็นเพนิซิลลินกำลังทำลายกลุ่มแบคทีเรีย (ภาพจาก gettyimages.co.uk)

ตลอดทศวรรษต่อมา เขากับคนอื่นๆพิสูจน์ว่า เชื้อราที่ชื่อ เพนิซิลเลียม โนทาทัม (Penicillium Notatum) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เพนิซิลลิน มีคุณสมบัติปฏิชีวนะ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิวัติวงการแพทย์ เฟลมิง ปฏิเสธเสมอว่า เขาไม่ได้ ‘คิดค้น’ เพนิซิลลินขึ้น โดยกล่าวว่า “ธรรมชาติสร้างมันขึ้นมานานนับพันปีมาแล้ว ข้าพเจ้าเพียงแต่ค้นพบมันเท่านั้น”

อุบัติเหตุเรื่องที่ 5 : ฝนฉกรรจ์

ในปี 1986 รัฐมนตรีโซเวียตพูดถึงความปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า ‘โอกาสรั่วไหลคือ 1 ครั้งใน 10,000 ปี’ สองเดือนต่อมา ในวันที่ 26 เมษายน เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่โรงงานเชอร์โนบิลใกล้เมืองเคียฟเกิดระเบิดขึ้น หลังความผิดพลาดในการทดสอบความปลอดภัย กัมมันตรังสีแผ่ออกมามากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิม่า ถึง 1,000 ลูก เกิดเมฆกัมมันตรังสีแผ่ไปทั่วยุโรป มันเป็นภัยทั้งต่อสุขภาพและพื้นแผ่นดิน

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 หลังจากการระเบิดครั้งใหญ่ ในปี 1986
(ภาพจาก cdn.theatlantic)

หลังเหตุการณ์เชอร์โนบิล เราจึงไม่อาจไว้วางใจพลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างเต็มที่อีก.

Exit mobile version